รัฐบาลจ่อดึงเงินอปท.อัดฉีดเศรษฐกิจ

06 ส.ค. 2562 | 08:25 น.

โฆษกรัฐบาล เผยครม.รับทราบข้อเสนอวงประชุมงบปี63 ดึงเงินอปท.อัดฉีดเศรษฐกิจ

 

วันที่ 6 ส.ค. 62 ที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ในที่ประชุมครม.ไม่ได้มีการหารือถึงมาตรการว่าจะทำอย่างไรจากการที่งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ต้องล่าช้าออกไป แต่มีข้อเสนอจากคณะกรรมการจากการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยมี 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ระบุว่าให้ใช้งบประมาณปี 62 ไปพลางก่อน แต่มีการรายงานข้อสังเกตของคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้ครม.รับทราบ ถึงการให้ไปพิจารณาการนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประชาชนได้หรือไม่ เพียงแต่เงินตรงนั้นมีข้อจำกัด เงื่อนไขบางอย่างว่าจะปลดล็อกอย่างไรได้หรือไม่ นอกจากนั้นยังพูดถึงงบประมาณที่ยังไม่สามารถตั้งภาระหนี้ได้ ก็ให้ไปหาแนวทางว่าถ้าไม่สามารถตั้งภาระหนี้ได้ก็ให้ผันมาทำนโยบายแทน

 

ดร.นฤมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบกรอบงบเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 2 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 6.7%  เป็นรายจ่ายประจำ 74.7% รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 2% หรือ 6.2 หมื่นล้านบาท รายจ่ายลงทุน 20.5% หรือ 6.5 แสนล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 2.8% หรือ 8.9 หมื่นล้าน รายได้สิทธิ 2.731 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 62 1.8 แสนล้านบาท หรือ 7.1% งบประมาณขาดดุล 4.69 แสนล้าน เพิ่มจากปี 62 จำนวน 4.2% หรือ 1.9 หมื่นล้านบาท

โฆษกฯ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ฝากเรื่องการสื่อสารจนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นนั้น ฝากชี้แจงว่ายังอยู่ในกรอบเพดานหนี้ธารณะ คือไมเกิน 60% ต่อจีดีพี ยังมีช่องว่างอยู่เยอะ ยังอยู่ในกรอบ  และแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลจะมีแหล่งเงินทุนเข้ามาช่วยเสริมในการพัฒนาประเทศ เช่นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน การร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน การกู้จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นของรัฐบาล  อยากจะให้ช่วยเข้าใจตรงกันยังเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังและเพดานหนี้สาธารณะ

 

นอกจากนี้สำนักงบประมาณยัง เสนอแผนงบบูรณาการ เพราะเดิมมีงบดูแยกกันรายกระทรง แต่การเปลี่ยนแปลงการจัดทำงบต้องนำงบแต่ละกระทรวงมาบูรณาการงานร่วมกัน 23 แผนงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่าการมีงบบูรณาการไม่ได้เป็นอุปสรรคในการบูรณาการการทำงาน แต่ต้องการทำงานร่วมกันตั้งแต่การจัดทำงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด