เปิดชื่อ4รัฐวิสาหกิจเบิกงบต่ำเป้า5.1หมื่นล้าน

07 ส.ค. 2562 | 03:05 น.

สคร.กางบัญชี 4 รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2562 ล่าช้ากว่า 5.1 หมื่นล้าน รฟท.นำโด่ง ตามมาด้วย ทอท.-กทพ.-การบินไทย 

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่าปัจจุบันมีโครงการลงทุนสำคัญของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่งที่มีการดำเนินโครงการล่าช้าต่ำกว่าประมาณการเบิกจ่ายปี 2562 ทั้งปีวงเงินรวม 51,218 ล้านบาท ประกอบด้วย

 

1.การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กรอบงบลงทุนทั้งปี 76,184 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงเพียง 34,373 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 41,811 ล้านบาท มีโครงการล่าช้าที่สำคัญคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน  เบิกจ่ายจริง 1,688 ล้านบาท จาก 20,082 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ นครปฐม – ชุมพร เบิกจ่ายจริง 6,825 ล้านบาท จาก 14,215 ล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนและแดงเข้ม ยังไม่มีการเบิกจ่าย จากกรอบงบลงทุน 4,967 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ ลพบุรี – ปากน้าโพ เบิกจ่าย 1,513 ล้านบาทจาก 4,905 ล้านบาท 

 

2.บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. ตั้งกรอบงบลงทุนทั้งปี 17,912 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริง 13,472 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,440 ล้านบาท มีโครงการล่าช้าที่สำคัญคือ การก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 9,060 ล้านบาท จากวงเงินลงทุน 12,485 ล้านบาท

3.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)กรอบงบลงทุนทั้งปี 6,203 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริง 1,800 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,404 ล้านบาท โครงการสำคัญที่เบิกจ่ายล่าช้าคือ ทางพิเศษพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก เบิกจ่าย 402 ล้านบาทจาก 3,547 ล้านบาท 

4.บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ตั้งกรอบงบลงทุนทั้งปี 6,380 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 5,816 ล้านบาท ต่ำกว่าแผน 564 ล้านบาท โครงการสำคัญที่เบิกจ่ายล่าช้าคือ แผนงานจัดหาอุปกรณ์อะไหล่เครื่องบินและเครื่องยนต์ เบิกจ่าย 2,867 ล้านบาทจาก 3,156 ล้านบาท 

 

สาเหตุสำคัญในการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้าของรัฐวิสาหกิจเนื่องจากมีการร้องเรียนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือมีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว หรือไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ ทำให้รัฐวิสาหกิจจะต้องเริ่มกระบวนการ จัดซื้อจัดจ้างใหม่ หรือต้องหารือกรมบัญชีกลางเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาในเรื่องความพร้อมของโครงการ การเข้าพื้นที่หน้างานไม่ได้ เช่น พื้นที่ติดสัญญาเช่าเดิม ผู้บุกรุกไม่ยอมออกจากพื้นที่ หรือผู้ถูกเวนคืนไม่ยอมออกจากพื้นที่ หรือต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าพื้นที่ การปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้าง เนื่องจากพบอุปสรรคภายหลังเข้าพื้นที่หน้างาน หรือกรณีประชาชนในพื้นที่คัดค้านและจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างหรือต้องปรับให้รองรับกับงานก่อสร้างที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน รวมไปถึงการจัดหาวัสดุก่อสร้างล่าช้า เนื่องผู้รับจ้างส่งมอบของล่าช้าหรือไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ได้เพียงพอ 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการวางแผนและบริหารความเสี่ยง ความสำเร็จของโครงการลงทุนมีความเกี่ยวเนื่องกัน ทำให้ต้องรอให้โครงการลงทุนที่มีความล่าช้าดำเนินการเสร็จหรือตรวจรับงานก่อน จึงจะสามารถเริ่มโครงการลงทุนอีกโครงการได้ ขณะที่การตรวจรับงานและการเบิกจ่ายเงินค่างวดงานขาดความพร้อมด้านเอกสาร หรือผู้รับเหมาไม่ยื่นเอกสารขอเบิกค่างวดงานภายหลังงานแล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน หรือเงื่อนไขในสัญญาจ้างไม่เอื้อให้รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายได้ตามงวดงานที่แล้วเสร็จ กรณีที่มีความเห็นต่างระหว่างคู่สัญญาต้องใช้เวลาเจรจารวมถึงหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติ

สำหรับกรอบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2562 รวม 45 แห่งรวมบริษัทลูกเดิมกำหนดไว้ 538,943 ล้านบาท ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ปรับปรุงกรอบวงเงินลงทุนลดลงมาเหลือ  499,222 ล้านบาท หรือลดลง 39,721 ล้านบาท ปรากฎว่า ณ วันที่ 12 ก.ค. 2562  สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 129,815 ล้านบาท คิดเป็น 87% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้  149,647 ล้านบาท