หุ้นธนาคาร-ไฮเทค-เกษตร ดิ่งหนัก เมื่อจีน-สหรัฐฯเปิดฉาก ‘สงครามค่าเงิน’

09 ส.ค. 2562 | 03:05 น.

เงื้อง่ามานานข้ามปี ในที่สุดกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาก็ประกาศขึ้นบัญชีจีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน หรือ currency manipulator อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 หลังจากที่ธนาคารกลางของจีนปรับลดค่าเงินหยวนตํ่าสุดในรอบกว่า 10 ปีโดยทะลุระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สำทับด้วยรายงานจากสำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีนที่ระบุว่า คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ได้ประกาศว่า ผู้ประกอบการของจีนได้ระงับการซื้อสินค้าเกษตร “ทุกชนิด” จากสหรัฐฯแล้ว เท่ากับว่าขณะนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ ได้เปิดแนวรบทั้งด้านการเงินและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ จนนักวิเคราะห์ต้องออกมาประเมินสถานการณ์กันด้วยความหวั่นวิตกและผลกระทบในขั้นต้นนั้นก็ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้วจากดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกทั้งในฝั่งตะวันตกและเอเชียที่ร่วงผล็อยตามๆ กัน

วันรุ่งขึ้น (6 ส.ค.) ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียยังคงเปิดตลาดลดลง รัฐบาลจีนปรับค่าอ้างอิงรายวันของเงินหยวนแข็งขึ้นเล็กน้อย (6 ส.ค.) เหนือระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์หลังถูกสหรัฐฯตราหน้าเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน (แต่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดออฟชอร์ยังอยู่ที่ 7.1031 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เวลา 10.18 น. ของจีน) เหมือนจะต้องการแสดงให้เห็นว่าจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเรื่อยๆ อย่างที่สหรัฐฯกล่าวหา

แถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่แทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราภายในประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว ด้วยการดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้สกุลเงินหยวน “อ่อนค่ากว่าความเป็นจริง” โดยสถานการณ์ชัดเจนที่สุดเมื่อรัฐบาลปักกิ่งปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงสู่ระดับ 7.0391 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (5 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นระดับตํ่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2551 การที่ธนาคารกลางของจีน (พีบีโอซี) ออกแถลงการณ์ว่า จะเดินหน้าใช้มาตรการที่จำเป็นและจำเพาะเจาะจง ตอบสนองสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในตลาดปริวรรตเงินตรา ทำให้สหรัฐฯตีความว่า พีบีโอซี มีประสบการณ์ในการปั่นค่าเงินและกำลังเตรียมการที่จะใช้วิธีนี้ต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯเคยประกาศขึ้นบัญชีจีนเป็นประเทศที่ “ปั่นค่าเงิน” มาแล้วในปี 2537 ก่อนถอนชื่อจีนออกจากบัญชีดังกล่าวในเวลาต่อมาเพื่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน

สถานการณ์ดูจะก้าวเข้าสู่มุมที่ทวีความวิกฤติมากขึ้นเมื่อมีข่าวว่า ผู้ประกอบการของจีนทั้งภาครัฐและเอกชนได้ระงับการสั่งซื้อสินค้าเกษตร “ทุกชนิด” จากสหรัฐฯ นั่นเท่ากับว่า ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเข้าสู่การทำสงครามทั้งด้านการค้าและสงครามค่าเงินไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เชื่อว่าในส่วนของสหรัฐฯเองจะได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กันโดยนักวิเคราะห์ประมาณการว่า สงครามการค้าและการเงินที่ยืดเยื้ออาจจะทุบตลาดหุ้นสหรัฐฯให้มูลค่าร่วงลงได้อีก 8%

การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯโดยคำสั่งของผู้บริหารสูงสุดคือประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นบัญชีจีนให้เป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินนั้น อาจจะถูกมองว่าเป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์ เพราะสิ่งที่สหรัฐฯประกาศใช้กับจีนมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงขณะนี้ก็เป็นเหมือนบทลงโทษต่อพฤติกรรมของจีนที่รุนแรงอยู่แล้ว นักวิเคราะห์จึงมองว่าการขึ้นบัญชีดำตราหน้าจีนเป็นประเทศปั่นค่าเงินครั้งนี้ เป็นเพียงความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯที่กำลังเสื่อมทรามถดถอยลงมากขึ้นทุกขณะและในอนาคตก็อาจนำไปสู่การประกาศควํ่าบาตรจีนมากขึ้น นาย สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯจะแสวงหาร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แก้ไขปัญหาข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการประกาศลดค่าเงินของจีน นั่นก็หมายความว่า สหรัฐฯจะหาแนวร่วมหรือยืมมือองค์กรการเงินระหว่างประเทศอย่างไอเอ็มเอฟ เข้ามาช่วยบีบคอจีนอีกแรงหนึ่ง

หุ้นธนาคาร-ไฮเทค-เกษตร ดิ่งหนัก เมื่อจีน-สหรัฐฯเปิดฉาก ‘สงครามค่าเงิน’

ทั้งนี้ ตามกระบวนการในสหรัฐฯไม่ได้มีบทลงโทษประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินในทันทีทันใด แต่จะมีการบรรจุในรายงานต่อสภาคองเกรสทุกๆ 6 เดือน โดยรายงานครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยหลักการแล้วหลังจากที่สหรัฐฯประกาศระบุว่าจีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน ก็จะต้องมีการเจรจาหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา แต่จากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามเจรจาแก้ไขปัญหาการค้ากันมาแล้วมากกว่า 1 ปีก็ยังไม่มีวี่แววคลี่คลายไปในทางที่ดี จึงไม่มีความหวังใดๆ ว่าจะมีการเจรจาที่เป็นไปในเชิงบวกสำหรับการแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินในครั้งนี้ และหากเวลาผ่านไป 1 ปีหลังจากประเทศใดก็ตามถูกสหรัฐฯระบุเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน นั่นก็มีความเป็นไปได้ว่าประเทศนั้นๆจะต้องพบกับมาตรการ “ควํ่าบาตร” จากสหรัฐฯในรูปแบบต่างๆ เช่น บริษัทเอกชนของประเทศนั้นๆจะถูกตัดสิทธิ์จากการเข้าประมูลงานของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือถูกตัดสิทธิ์จากการรับความสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานของสหรัฐฯ

 

แต่ก่อนจะไปถึงความเสียหายขั้นนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้วจากความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 ฝ่ายคือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เวลานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเกี่ยวกับค่าเงิน และกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีที่ได้รับผลกระทบจากความวิตกด้านการค้า ยกตัวอย่างหุ้นของธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา ซิตีกรุ๊ป และเจพีมอร์แกนฯ ที่ราคาร่วงลง 5.5% 4% และ 3.8% ตามลำดับเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่หุ้นบริษัทไฮเทคอย่างไมครอนเทคโนโลยี เท็กซัสอินสตรูเมนท์ และอินเทล ร่วงลง 6.2% 4.4% และ 4% ตามลำดับ หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรก็ถูกทุบร่วงเช่นกันจากข่าวที่ว่าจีนยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ และนักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าหุ้นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จะตกเป็นเหยื่อรายต่อไป 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3494 ระหว่างวันที่ 8 - 10 สิงหาคม 2562