รื้อพอร์ตสู้ หุ้นขาลง พิษเทรดวอร์        

07 ส.ค. 2562 | 11:17 น.

โบรกแนะปรับพอร์ตถือเงินสดเพิ่ม  คาดตลาดหุ้นไทยยังเป็นขาลง จากปัจจัย เทรดวอร์รุนแรง-เหตุวางระเบิดในกทม. ด้าน  บล.เคทีบีฯ ปรับเป้า SET Index ไตรมาส 3 ลงกรอบ 1700-1750 จุด  เผยช่วง 6 วัน (31 ..-5 .. 62) มูลค่ามาร์เก็ตแคป ลดลง 4.7 แสนล้านบาท  ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 8 พันล้านบาท

สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนรุนแรงขึ้นหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ มีผลในวันที่ 1 กันยายนนี้ และจีนได้ออกมาตรการตอบโต้กลับ โดยปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าลงตํ่ากว่าระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ(5 .. 62 ) แตะระดับตํ่าสุดในรอบ 11 ปี พร้อมประกาศระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว และร่วงหนักขึ้นหลังจีนออกมาตรการตอบโต้

รื้อพอร์ตสู้  หุ้นขาลง  พิษเทรดวอร์         

โดยดัชนีหุ้นไทยนับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม5 สิงหาคม 2562 ปรับลง 45.98 จุด ปิดตลาดวันที่ 5 สิงหาคมที่ 1,665.99  จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ที่ 17.20 ล้านล้านบาท  ลดลง 4.7 แสนล้านบาทจากสิ้นเดือนที่แล้ว ขณะที่ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ (1-5 .ค 2562)  8,000 ล้านบาท แต่นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ต่างชาติยังซื้อหุ้นไทยสุทธิบวก 5.27 หมื่นล้านบาท  ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทย ต่างชาติซื้อสุทธิช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา  5,026 ล้านบาท และนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจว่าสถานการณ์สงครามการค้า ต้องติดตามเป็นรายวัน  และเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้น จนกว่าทั้งสหรัฐฯ-จีน จะมีข้อสรุปคาดจะเป็นปลายไตรมาส 3/2562 หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมถอย

ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสดาวน์ไซด์มากกว่าที่จะปรับขึ้น โดยตลาดคาดการณ์ว่าผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดจากการใช้มาตรการภาษีจะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงประมาณ 0.6% จากที่เติบโตอัตรา 2-3%  ซึ่งจะส่งผลต่อส่งออกและเศรษฐกิจไทย ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า และกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไม่ดีนัก บล.เคทีบีฯจึงได้ปรับเป้าดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 3/2562 จาก 1780 จุด ลงมาในช่วง 1700-1750 จุด พร้อมแนะให้นักลงทุนเพิ่มการถือเงินสดเป็นสัดส่วน 20-30% ของพอร์ต ส่วนระยะสั้นหาก SET Index ปรับลงตํ่ากว่า 1660 จุดแนะให้ลดพอร์ตการลงทุนเพราะคาดจะลงต่อ แต่หากยังไปต่อเหนือ 1660 จุดได้ ให้ซื้อ

กลยุทธ์การลงทุนให้เน้นกลุ่มที่มีผลประกอบการกำไรแข็งแกร่ง อาทิ กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มไอซีที และกลุ่มโรงพยาบาล โดยเลี่ยงลงทุนหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, ปิโตรเคมีโรงกลั่น และกลุ่มโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

ฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก จก.หรือ GBS  ระบุว่าดัชนีทิศทางตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลง โดยมีแรงกดดันจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หลังเกิดเหตุวางระเบิดกลางกรุงหลายจุด คาดดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,640-1,670 จุด

ทั้งนี้ FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวการณ์ซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสถึง 95.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%ในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ จากระดับไม่ถึง 50% ในสัปดาห์ก่อน

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็กฯ กล่าวว่าในช่วงสั้นนักลงทุนยังคงวิตกกับเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อหลังจีนยืนยันดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯที่เตรียมปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต้นเดือนกันยายนนี้ ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอีกครั้ง

กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นแนะลง 1 . หุ้น Defensive Stock เช่น  EASTW, TTW, BCH, CPALL  และ BJC 2. หุ้น High Dividend  เช่น SIRI, QH, TISCO, KKP  และ ANAN 3. หุ้น Theme EEC play  เช่น AMATA, WHA, ROJNA, EASTW และ ATP30

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในช่วง 1,706-1,748 จุด จากระดับสูงสุดช่วงต้นเดือนเคลื่อนไหวลดลงสลับกับการพักตัว โดยดัชนีมาอยู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,706 จุด ในช่วงปลายเดือน ทั้งนี้ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศจากนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้น รองลงมาคือนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปี 2562 และการคาดหวัง นโยบายรัฐบาลไทย ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถคาดการณ์ได้ และเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,494 วันที่ 8-10 สิงหาคม 2562

รื้อพอร์ตสู้  หุ้นขาลง  พิษเทรดวอร์