แจงเบิกจ่ายช้า ติดอี-บิดดิ้ง 5สัญญาไฮสปีดไทย-จีน

07 ส.ค. 2562 | 05:17 น.

จากกรณี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจช่วงเช้าวันที่ 7สิงหาคม 2562   โดยมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือ  เพื่อกระตุ้นขับเคลื่อนการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานรัฐ ซึ่งเป็นฟันเฟือง กระจายเม็ดเงิน ลงสู่ฐานราก ผ่านผู้รับเหมา วัสดุก่อสร้าง แรงงาน ผ่านไปถึงการจับจ่ายสินค้าทั่วไป      
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมพบว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. )  การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เบิกจ่ายล่าช้าเข้าใจว่าเป็นโครงการใหญ่ มีขั้นตอนการประมูลรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การเตรียมความพร้อมเอกสารหลักฐาน  และปัญหาใหญ่คือ เวนคืน 
นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายก่อสร้าง  รฟท. ยอมรับว่ายังมีการเบิกจ่ายล่าช้าในบางโครงการ อย่างรถไฟไทย-จีน  จำนวน 5สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 1หมื่นล้านบาท ติดขบวนการอี-บิดดิ้ง  การประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์  ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานอย่างรัดกุม ทำให้ ต้องเลื่อนการเซ็นสัญญาและเบิกจ่ายเงินงวดแรกจาก เดือนกรกฎาคม นี้ ออกไป อย่างไรก็ตาม  ได้ชี้แจง ที่ประชุม เรียบร้อยแล้วและ จะนำ
ผลการประชุมกลับมาเร่งรัดดำเนินโครงการให้เร็วขึ้นคาดว่า จะเซ็นสัญญเบิกจ่ายได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ทั้ง5สัญญา 
 “แผนมีอยู่แล้ว อย่างผู้รับเหมาเสนอราคา 5สัญญา ยังอยู่ระหว่างสรุปและเช็นสัญญาได้  แต่ จริงไม่ได้ช้ากว่าแผนมากนัก  เราทำแผนเดิม   แต่ อี-บิดดิ้ง ต้องมีการพิจารณาเอกสาร อย่างไรก็ตาม หากมีการเซ็นสัญญา การไหลของเงินจะเข้าสุ่ระบบเร็วขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายในประเทศได้อย่างมาก “
แหล่งข่าวจากการรฟท.เสริมว่า  ความล่าช้า การ ร้องเรียนของผู้รับเหมาก็มีส่วน เช่นการฟันราคาต่ำๆ และ การเสนอขอตรวจสอบ กรณีผู้รับเหมาจีน ทำให้เกิดความล่าช้า เช่นเดียวกับ รถไฟสายสีแดง เข้มแดงอ่อนขณะนี้รอลงนามในสัญญา ซึ่งรฟท.จะเร่งรัดตามนโยบายต่อไป  
สำหรับ โครงการล่าช้าต่ำกว่าประมาณการเบิกจ่ายปี 2562 ของรฟท. กรอบงบลงทุนทั้งปี 76,184 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 34,373 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 41,811 ล้านบาท ได้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน  เบิกจ่ายจริง 1,688 ล้านบาท จาก 20,082 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ นครปฐม – ชุมพร เบิกจ่ายจริง 6,825 ล้านบาท จาก 14,215 ล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนและแดงเข้ม ยังไม่มีการเบิกจ่าย จากกรอบงบลงทุน 4,967 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ ลพบุรี – ปากน้าโพ เบิกจ่าย 1,513 ล้านบาทจาก 4,905 ล้านบาท