กกร.เล็งอีก 3 เดือน ปรับตัวเลขศก.-ส่งออกใหม่

07 ส.ค. 2562 | 08:23 น.

กกร.ยังไม่ไว้ใจเทรดวอร์ ค่าเงินบาท ทุบเศรษฐกิจ-ส่งออกไทยชะลอตัว เล็งปรับคาดการณ์ใหม่อีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า  จี้รัฐเร่งออกมาตรการดันกำลังซื้อประชาชน พึ่งการบริโภคภายในดันเศรษฐกิจโต พร้อมเร่งฟื้นความเชื่อมั่นเอกชน 

นายปรีดี  ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย  ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยหลังการประชุม กกร.ประจำเดือนสิงหาคม (7 ส.ค.2562) โดยสรุปใจความสำคัญว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยทั้งการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศมีสัญญาณที่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เครื่องชี้ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8%  

กกร.เล็งอีก 3 เดือน ปรับตัวเลขศก.-ส่งออกใหม่

 

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ เตรียมที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ต่อสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในวันที่ 1 กันยายนนี้ ส่วนจีนได้ปรับค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ โดยเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 ปี จากนั้นสหรัฐฯ ก็ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ซึ่งน่าจะนำมาสู่มาตรการเพิ่มเติมจากฝั่งสหรัฐฯ และส่งผลให้สงครามการค้ามีความเสี่ยงที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหราชอาณาจักรอาจจะต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562

 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าว สร้างแรงกดดันเพิ่มต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอยู่แล้ว และเมื่อประกอบกับความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งผันผวนและอาจปรับแข็งค่าขึ้น ล้วนเป็นแรงกดดันที่ไม่เอื้อต่อภาพการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี

 

อนึ่ง นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 เงินบาทแข็งค่าแล้ว 5.9% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเป็นอัตราแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

 

 

 

ภายใต้ภาพต่างประเทศข้างต้น แรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทย คงต้องหวังพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นจากภาครัฐ ทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และการเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

“ทาง กกร.หวังว่าจะมีมาตรการต่างๆ จากภาครัฐออกมา ซึ่งรัฐบาลก็ยืนยันว่าเรื่องสินค้าเกษตรจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ มาตรการด้านภาษีที่ควรจะต้องมีมาตรการออกมาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือภาษีรายได้บุคคลธรรมดา หรืออื่น ๆ ในการขับเคลื่อน”

ทั้งนี้ กกร. จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อประเมินทิศทางการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป ณ ขณะนี้ จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2562 ไว้ตามกรอบเดิม ณ เดือนกรกฎาคม 2562 คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)อยู่ที่2.9-3.3% (จากปี 2561 ขยายตัว 4.1%) และการส่งออกขยายตัวที่ -1.0% ถึง 1.0% (จากปี 2561 ขยายตัว 6.9%)

กกร.เล็งอีก 3 เดือน ปรับตัวเลขศก.-ส่งออกใหม่

                                                 กลินท์  สารสิน 

นายกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกที่ยังติดลบ ซึ่งที่ในที่ประชุมครั้งนี้ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร โดยเปรียบเทียบตัวเลขการส่งออกของไทยกับประเทศอื่น ๆ โดย 6 เดือนแรกปีนี้การส่งออกไทยยังติดลบที่ 2.9% ขณะที่อินโดนีเซีย -8.6% เกาหลีใต้ -8.5% สิงคโปร์ -4.1% ไต้หวัน  -2.3% ขณะที่เวียดนาม +7.2%  ถือเป็นประเทศเดียวที่การส่งออกยังเป็นบวก

 “จากการวิเคราะห์การส่งออกของเวียดนามที่ยังเป็นบวกเป็นผลจากรัฐบาลเขามีการดูแลค่าเงินด่องค่อนข้างดี ทำให้สินค้ายังแข่งขันได้ ประกอบกับมีการลงทุนจากต่างชาติจำนวนมากเข้าไปที่เวียดนามช่วยเพิ่มตัวเลข ซึ่งเราก็อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลค่าเงินบาทเช่นกัน”

กกร.เล็งอีก 3 เดือน ปรับตัวเลขศก.-ส่งออกใหม่

                                                 สุพันธุ์  มงคลสุธี

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือในการประชุม กกร. เดือนตุลาคม เอกชน 3 สถาบันจะได้พิจารณาเพื่อประมาณการณ์เศรษฐกิจ และการส่งออกของไทยอีกครั้ง ซึ่ง 3 เดือนจากนี้สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศยังมีความผันผวนอยู่มาก ตัวเลขเศรษฐกิจ และการส่งออกของไทยจะปรับดีขึ้นหรือแย่ลงยังไม่สามารถตอบได้