พาณิชย์ลุ้นดอกเบี้ยนโยบายลด กดบาทอ่อน-ดันส่งออกโงหัว

08 ส.ค. 2562 | 07:41 น.

พาณิชย์ลุ้นส่งออกครึ่งปีหลังขยายตัวทิศทางที่ดีขึ้น หลัง กนง.ลดดอกเบี้ยพร้อมติดตามสงครามค่าเงินใกล้ชิดเตรียมมาตรการดูแลและกระตุ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกค่อนข้างสูง เพื่อกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก และลดการพึ่งพาตลาดเดิม โดยหารือที่ประชุม กรอ. พาณิชย์ 14 ส.ค. นี้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางจีนทะยอยปรับอัตรากลางเงินหยวนตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ส่งสัญญาณว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มขยายวงกว้างไปสู่สงครามการเงินและส่อเค้ายืดเยื้อไปอีกพักใหญ่ แม้ว่าธนาคารกลางจีนออกแถลงการณ์ปฏิเสธการจัดการค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการส่งออก และให้เหตุผลว่าค่าเงินหยวนสอดคล้องกับอุปสงค์อุปทานและพื้นฐานของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ อัตรากลางล่าสุด เท่ากับ 7.0039 หยวนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยจากวันที่ 5 ส.ค. 62 ที่ระดับ 6.9925 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ตั้งแต่เมษายน 2551 และเป็นครั้งแรกที่ค่ากลางทะลุ 7.0 ซึ่งเป็นแนวต้านที่ธนาคารกลางเฝ้าระวังและกำกับดูแลมาตลอด

ทั้งนี้การที่เงินหยวนอ่อนค่าทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศคู่แข่งรวมถึงไทย ในตลาดสหรัฐฯ และตลาดที่สาม อย่างไรก็ตาม การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ (7 ส.ค. 62) ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯและไทย กลับไปสู่ใน 0.5 ซึ่งเท่าช่วงก่อนที่ FED จะลดอัตราดอกเบี้ย 2.0 – 2.25 (1 ส.ค. 62) โดยประเมินว่าแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลดลง และเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนตัวลงจากขณะนี้ ประกอบกับมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่ออกมาก่อน หน้านี้จะเป็นอีกกลไกหนึ่งเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย

แนวโน้มค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง จะส่งผลกระทบทางตรงให้รายได้จากการส่งออก (ในรูปเงินบาท) ปรับตัวดีขึ้นจากระยะก่อน และมีผลทางอ้อมสนับสนุนให้สินค้าส่งออกของไทยการแข่งขันได้ดีขึ้น ส่งผ่านต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจในประเทศ กระตุ้นภาคการผลิต และเพิ่มการจ้างงานต่อไป นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้ปริมาณเงินเพื่อการหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่ออุปสงค์การบริโภคและทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ เมื่อรวมผลกระทบจากทางผลทางด้านรายได้จากการส่งออกที่มากขึ้น และราคานำเข้าที่สูงขึ้น ชี้ว่าทิศทางเงินเฟ้อน่าจะปรับสูงขึ้น (หากปัจจัยอื่นคงที่)

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้า และสถานการณ์อื่นๆ อาจทำให้ค่าเงินยังมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรพิจารณาทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายประกอบด้วย เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่คาดคิดสัญญาณการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยครั้งแรกในรอบ 52 เดือน (ตั้งแต่ เม.ย. 58) ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกและไทย ยังอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมรายได้อย่างตรงจุดและเสมอภาค รวมถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในสถานการณ์ปัจจุบัน น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นได้ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นั้น ได้มีการเตรียมมาตรการดูแลและกระตุ้นการส่งออก รวมถึงการค้าชายแดน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกค่อนข้างสูง เพื่อกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก และลดการพึ่งพาตลาดเดิม อีกทั้งการลดอุปสรรคทางการค้าก็เป็นอีกมาตรการเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจของภาคเอกชน โดยในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ. พาณิชย์) ในวันที่ 14 ส.ค. 62 นี้จะได้หารือในรายละเอียดและกำหนดแนวทางเพื่อขับเคลื่อน สู่ภาคปฏิบัติต่อไป