เทียบฟอร์มสินค้าเกษตรไทยในจีน บนเส้นทาง “แข่งเดือด-คู่แข่งอื้อ”

08 ส.ค. 2562 | 12:21 น.

เทียบฟอร์มสินค้าเกษตรไทยในจีน บนเส้นทาง  “แข่งเดือด-คู่แข่งอื้อ”

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ออกระเบียบและกติกาการนำเข้าใหม่มากกมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่เข้าไปขายในประเทศจีน

 

ผมไปจีนหลายครั้ง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง วันนี้จะอัพเดทการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ไทยไปจีนดังนี้ 1.คู่แข่งผลไม้ไทยในตลาดจีน ปี 2561 ประเทศจีนมีการนำเข้าผลไม้ไทย มูลค่า 37,200 ล้านบาท โดยทุเรียนมีสัดส่วนการนำเข้ามากที่สุด 83% ตามด้วยลำไย กล้วยและสับปะรด ตามลำดับ

 

แต่สิ่งที่น่าคิดคือ ในทุกประเภทของผลไม้ไทยมีคู่แข่งทุกตัว ขอเริ่มจากทุเรียนก่อน นายกสมาคมนักธุรกิจกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง บอกผมว่า รสชาติทุเรียนไทยกับมาเลเซียอร่อยพอ ๆ กัน แต่ที่มีทุเรียนมาเลเซียขายน้อยในจีนเพราะ มาเลเซียยังผลิตทุเรียนน้อยอยู่ ในขณะที่คู่แข่งที่สำคัญของกล้วยไทยคือ ฟิลิปฟินส์ เวียดนาม และเมียนมาสับปะรดเป็นฟิลิปฟินส์ และไต้หวัน ส้มโอเป็นแอฟริกาใต้และอิสราเอล เงาะคู่แข่งคือเวียดนาม ฝรั่งมีคู่แข่งคือไต้หวัน ไต้หวันเป็นคู่แข่งมะม่วงสดของไทยในตลาดจีน และแก้วมังกรของเวียดนามเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของไทย

 

 2.เส้นทางการขนส่งทางบก การขนส่งสินค้าเกษตรไทยไปตลาดจีน เดินทางไป 3 เส้นทางทั้งทางบก น้ำและอากาศ แต่ทางอากาศมูลค่าอาจจะน้อยหน่อย ส่วนทางบกและทางน้ำเป็นเส้นทางที่นิยมกันมากขึ้น สัดส่วนน่าจะครึ่งๆ เป้าหมาย 2 เมือง คือ “เมืองคุนหมิง และเมืองหนานหนิง” เขตปกครองตนเองกว่างสี เส้นทางภาคเหนือคือ “R3A” เชื่อมเชียงราย - คุณหมิง มณฑลยูนนาน เริ่มจาก เชียงของ ห้วยทราย หลวงน้ำทา บ่อเต็น บ่อหาน เมืองล่า (Meng La) เชียงรุ่ง คุนหมิง รวมระยะทางประมาณ 1,100 กิโลเมตร ใช้เวลาในการขนส่ง  2 วัน สินค้าที่ไทยส่งไปเส้นทางนี้คือ ยางพารา น้ำมันปาล์ม ลำไย ผลไม้ มังคุค และทุเรียน เป็นต้น

เทียบฟอร์มสินค้าเกษตรไทยในจีน บนเส้นทาง  “แข่งเดือด-คู่แข่งอื้อ”

 

ส่วนเส้นทาง “R9” จากมุกดาหาร สะหวันนะเขต ฮานอย และหนานหนิง เส้น “R12” นครพนม ท่าแขก ฮานอย หนานหนิง นี้มีความยาวทั้งสิ้น 823 กม. (จากนครพนมถึงด่านหยวนอื้กวน) ซึ่งมีระยะทางสั้นกว่าจากชายแดนมุกดาหาร (R9) ถึงด่านหยวนอี้กวนที่มีระยะ 1,090 กม.  ที่ด่านนครพนมสินค้าไทยที่ส่งไปสปป.ลาว ได้แก่ เครื่องประมวลผลข้อมูล เครื่องดื่ม ผลไม้ (ขนุน เงาะ ชมพู่) ลำไยอบแห้ง และแบตเตอรี่ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าจาก สปป.ลาวได้แก่ เครื่องรับวิทยุ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรพิมพ์และเสื้อผ้า  (ก่อนวันที่ 18 มี.ค 2561 เส้น R9 มีข้อตกลงกับหน่วยงาน AQSIQ ของจีนในขณะที่เส้น R12 ยังไม่มีข้อตกลงดังกล่าว) และ เส้น “R8” จากบีงกาฬ บอลิคำไซ (กำลังสร้างสะพานแห่งที่ 5) มีต้นทุนในการขนส่ง 81,000 บาทต่อตู้

 

 3.เส้นทางการขนส่งทางเรือ มี 2 เส้นทางคือ จากท่าเรือเชียงแสนถึงท่าเรือกวนเหล่ย (สิบสองปันนา) ให้เวลา 3 วัน แต่ถ้าจีนขนส่งล่องตามสายน้ำจะใช้เวลา 1-2 วัน  และจากท่าเรือแหลมฉบังไปท่าเรือกว่างโจว และท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (Beibo Gulf Port) มี 3 ท่าเรือคือ ท่าเรือฝ่างเฉิงก่าง (Fangchengang) ท่าเรือซินโจว (Qinzhou) และท่าเรือเป๋ยไห่ (Beihai) อยู่ในเขตกว่างสี  

เทียบฟอร์มสินค้าเกษตรไทยในจีน บนเส้นทาง  “แข่งเดือด-คู่แข่งอื้อ”

 

4.ด่านชายแดนจีนกับเวียดนาม เป็นด่านชายแดนที่สำคัญในการส่งสินค้าเกษตรและผลไม้ของไทย โดยมีด่านหลักคือ ด่านหยวยอื้กวน (Youyiguan) ในเมืองผิงเสียง (Pingxiang) ซึ่งเป็นด่านสากล และด่านปู้จ้าย (Puzhai) ในเมืองฉงจั่ว (Chongzuo) ที่ยังไม่เป็นด่านสากล สองด่านนี้อยู่ห่างกัน 2 กม. จากฮานอยไปยังด่านหยวยอี้กวนของจีนและที่ฝั่งเวียดนามเรียกว่า “หูหงี้ (Huu Nghi)” ในจังหวัดลางเซื้น (Lang Son) และด่านตงชิง (Dongxing) ตรงข้ามกับด่านเหม่งก๋าย (Mong Cai) ในจังหวัดก๋วงนินห์ (Quang Ninh) ของเวียดนาม เปิดให้มีการนำเข้าผลไม้จากเวียดนาม โดยให้ขนคนละ 8,000 หยวน แต่ไม่เปิดสำหรับผลไม้ไทย ด่านหยวนอื้กวนจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13 สินค้าที่จีนส่งไปเวียดนามตรงด่านนี้ส่วนใหญเป็นเสื้อผ้าและรถยนต์ ส่วนสินค้าที่เวียดนามส่งเข้าจีนส่วนใหญ่เป็น “แก้วมังกร” ที่ด่านปู้จ้ายเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 5 % และคนเวียดนามและจีนที่อยู่ตามชายแดนสามารถขนสินค้าได้คนละ 8,000 หยวน

 

 5.ช่องทางการนำเข้าและภาษี สามารถส่งสินค้าได้ 2 ช่องทางคือ 1.ช่องทางปกติ ถ้าไม่มี FTA เสียภาษีนำเข้า 5-15% ของราคา (ขึ้นกับประเภทของสินค้า กรณีน้ำผลไม้เสีย 5%) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% และ ถ้ามี FTA ภาษี 0 เสียภาษีนำเข้า 13% 2.ช่องทางพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์ข้ามแดน (Cross Border E-Commerce : CBEC) ต้องเสียภาษีนำเข้า 10% ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ต้องได้มาตรฐานจีน ไม่ต้องมีภาษาจีน โดยที่คนจีนนำเข้าได้ไม่เกิน 26,000 หยวนต่อคนต่อปี (130,000 บาทต่อคนต่อปี)  

เทียบฟอร์มสินค้าเกษตรไทยในจีน บนเส้นทาง  “แข่งเดือด-คู่แข่งอื้อ”

 

และสุดท้าย “ระเบียบการนำเข้าใหม่ของจีน” หลังวันที่ 18 มี.ค. 2561 (เดิมให้ การบริหารทั่วไปกับคุณภาพการกำกับดูแลการตรวจสอบและกักกันของสาธารณรัฐประชาชนจีน : AQSIQ) การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปขายในประเทศจีนต้องทำตาม 3 ระเบียบคือ 1.องค์กรบริหารจัดการระเบียบการตลาด (State Administration of Market Regulation : SAMR) กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและสินค้า GMO 2.ศุลกากรจีน (the General Administration of Customs : GACC)   และกระทรวงเกษตรและชนบท (the Ministry of Agriculture and Rural Affairs :MARA) กำกับหน่วยงานอาหารและยาจีน (China Food and Drug Administration : CFDA) ซึ่งจะทำให้มีการตรวจสินค้าผลไม้ไทยเข้มขึ้นมาก เริ่มจาก 5 สินค้าคือ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ลิ้นจี้ ครับ