กรรมติดจรวดแบงก์ยักษ์ HSBC พันคดีฟอกเงินหมื่นล้าน

08 ส.ค. 2562 | 14:43 น.

ดูเหมือนว่าความพยายามของผู้บริหารธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ในการชำระสะสางภาพลักษณ์ติดลบที่เกิดจากการพัวพันคดีอื้อฉาวทางการเงินและคดีอาญาในอดีตจะยังไม่บรรลุผล แม้ว่าซีอีโอ 2 รุ่นที่ผ่านมาของ HSBC ซึ่งเป็นธนาคารสัญชาติอังกฤษและเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในยุโรป(ในแง่มูลค่าสินทรัพย์) มีอายุเก่าแก่กว่า 153 ปีจะพยายามยกเครื่ององค์กร อุดช่องโหว่ และจ่ายค่าปรับมานักต่อนัก เพื่อล้างคราบความทุจริตที่กลายเป็นมลทินของธนาคารเนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา ธนาคาร HSBC ถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำการฉ้อโกงร้ายแรงอย่างเป็นระบบ ฟอกเงิน สมคบคิดทางอาญา และปฏิบัติหน้าที่ผิดกฎหมายในฐานะตัวกลางทางการเงิน แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ยังมีอีกคดีที่เป็นกรรมเก่าติดจรวดส่งผลให้ HSBC ต้องยอมจ่ายเงินอีกเกือบๆ 300 ล้านยูโร (ราว 10,000ล้านบาท) เพื่อยุติการสืบสวนทางอาญาของเจ้าหน้าที่เบลเยี่ยมในข้อกล่าวหาคดี ‘ฉ้อโกง’และ ‘ฟอกเงิน’ ที่โยงใยกับบรรดาผู้ค้าเพชรที่เป็นลูกค้าของธนาคาร โดยเงินดังกล่าวเป็นค่าปรับทางอาญา 294.4 ล้านยูโร และการชดเชยค่าเสียหายทางแพ่งแก่รัฐบาลเบลเยียมอีกกว่า400,000 ยูโร

  กรรมติดจรวดแบงก์ยักษ์ HSBC พันคดีฟอกเงินหมื่นล้าน
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับบริษัทสัญชาติสวิสที่เป็นลูกเครือของ HSBC และเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนหลายร้อยล้านยูโร ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาฉ้อโกงและฟอกเงินส่วนใหญ่เป็นของบรรดาลูกค้าเศรษฐีในเมืองแอนท์เวิร์ป ศูนย์กลางการค้าเพชรของโลก คณะอัยการระบุว่า บริษัท HSBC Private Bank SA (ซุยเซ) บริษัทในเครือ HSBC รู้เห็นเป็นใจในการช่วยเหลือลูกค้าเศรษฐีจำนวนหลายร้อยคนโกงภาษี ทั้งยังเปิดทางให้ลูกค้าเหล่านั้นเข้าถึงบัญชีการเงินนอกประเทศในดินแดนปลอดภาษีโดยเฉพาะในปานามาและหมู่เกาะเวอร์จิน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง HSBC ต้องจ่ายเงินค่าปรับก้อนโตเพื่อยุติคดีความซึ่งสร้างความเสียหายใหญ่โตให้กับภาพลักษณ์องค์กร แต่ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่านี่จะเป็นการจ่ายก้อนสุดท้ายเพราะคดีอาญาที่โยงใยเกี่ยวเนื่องกับระบบของธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความละเอียดซับซ้อน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องนี้ในหลายๆประเทศก็ยังคงพยายามไล่แก้ไขและอุดช่องโหว่ที่มีอยู่ กรณีของ HSBC ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนั้นนำไปสู่การยกเครื่องปรับเปลี่ยนในองค์กรของธนาคารเองครั้งใหญ่ เป็นการล้อมคอกให้แข็งแรงรัดกุมมากขึ้นเพื่อป้องกันและเพิ่มการสอดส่องการกระทำทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกรรมของธนาคาร  หลังจากที่ต้องจ่ายค่าปรับ 1,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2555 ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการฟอกเงินแก๊งยาเสพติดในเม็กซิโก ผู้บริหารของ HSBC ก็เพิ่มจำนวนพนักงานตำแหน่งพิเศษถึง 4,000 คนเพื่อทำหน้าที่สอดส่องดูแลบัญชีหรือกิจกรรมที่ผิดปกติของลูกค้า และทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหากพบธุรกรรมที่ผิดปกติ ในปี 2559 ทางธนาคารได้มืออาชีพอย่างเจนนิเฟอร์ คาลเวอรี อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงแผนกปราบปรามการฟอกเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เข้ามาร่วมทีมสอดส่องดูแลพิเศษดังกล่าว และนำไปสู่การจับมือกับทางการตำรวจสหรัฐฯ ทลายแก๊งค้ามนุษย์เพื่อบริการทางเพศสำเร็จในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของ HSBC ยอมรับว่า มาตรการที่รัดกุมมากขึ้นเหล่านี้ ทำให้อาชญากรทำงานได้ยากขึ้นในการใช้ช่องทางในระบบธนาคารทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เงินสกปรกหรือเงินจากกระบวนการอาชญากรรมหมดไปจากระบบของธนาคารในชั่วข้ามคืน   

 

คดีอาญาที่โยงใยเกี่ยวเนื่องกับระบบของธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความละเอียดซับซ้อน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องนี้ในหลายๆประเทศก็ยังคงพยายามไล่แก้ไขและอุดช่องโหว่ที่มีอยู่

วิบากเก่าตามหลอน/ปัญหาหมักหมมจากอดีต

ย้อนไปในปี 2561 เป็นปีที่ผู้บริหารของ HSBC ในขณะนั้น คิดว่าช่วงเวลาแห่งข่าวอื้อฉาวและวังวนของปัญหากำลังจะหมดไป ธนาคาร HSBC กำลังจะก้าวผ่านสู่ยุคใหม่ที่กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีก่อนหน้านั้น ธนาคารถูกรุมเร้าด้วยข่าวฉาวและคดีความที่เริ่มผุดขึ้นราว 5 ปีก่อน ทีมสืบสวนของตำรวจสหรัฐฯพบว่า สาขาของธนาคาร HSBC ในประเทศเม็กซิโกมีส่วนเกี่ยวข้องในการฟอกเงินมูลค่าอย่างน้อย 881 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯของแก๊งค้ายา 2 รายที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุดในละตินอเมริกา คดีดังกล่าวทำให้ธนาคารใหญ่ที่สุดของยุโรป และมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 153 ปีอย่าง HSBC ต้องเข้าสู่ยุคที่ดำมืดหม่นหมองที่สุด

 

ในอดีต ระหว่างปี  2541 ถึงปี 2545 ภายใต้การบริหารของประธาน เซอร์ จอห์น บอนด์ เป็นยุคแห่งการบุกขยายธุรกิจ ซึ่งในช่วงเวลานั้น อาณาจักรของ HSBC ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำนวนพนักงานเพิ่มจาก 120,000 คนเป็น 330,000 คนทั่วโลก มีการเทคโอเวอร์และซื้อกิจการจำนวนมากซึ่งในจำนวนนั้นมีหลายกิจการที่สร้างปัญหาในเวลาต่อมา หลังจากวิกฤติการเงินทำให้ฟองสบู่ภาพมายาในวงการการเงินโลกแตกโป๊ะในปี 2551 HSBC ก็จำเป็นต้องตัดขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป ซึ่งรวมถึงหุ้นของบริษัท เฮาส์โฮลด์ ที่ทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ซับไพรม์ มูลค่ากว่า 14,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันกิจการวาณิชธนกิจ รีพับลิก/ซาฟรา ซึ่งเป็นอีกกิจการในเครือ ก็พัวพันคดีช่วยลูกค้าหลบเลี่ยงภาษี และที่หนักสุดก็คือการซื้อกิจการธนาคาร ไบทัล ในเม็กซิโก ทำให้ HSBC ต้องติดร่างแหคดีฟอกเงินแก๊งค้ายาเสพติดและถูกปรับครั้งใหญ่ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น คดีฉาวเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์สุดช๊อคสำหรับธนาคารเก่าแก่กว่า 150 ปีที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยมอย่าง HSBC

  สจวร์ต กัลลิเวอร์ อดีตซีอีโอ HSBC ที่ลงมือสะสาง-ยกเครื่ององค์กรเพื่อลบล้างมลทิน

ในยุคที่ นายสจวร์ต กัลลิเวอร์ เป็นซีอีโอ ธนาคาร HSBC ไม่เพียงต้องเสียค่าปรับมูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังต้องถูกจับทำสัญญาที่เรียกว่า deferred prosecution agreement เหมือนการถูกตัดสินลงโทษแต่รอลงอาญาสำหรับบริษัทนิติบุคคล ในช่วงเวลานั้น ธนาคารใหญ่รายนี้ต้องใช้เงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงและติดตั้งระบบตรวจสอบและคุมเข้มเพื่ออุดช่องโหว่ทุกทางที่จะนำไปสู่การทุจริต แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาอื่นๆก็ดาหน้าเข้ามาเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเรี่ยดินและทำสถิติต่ำที่สุดในยุโรปในขณะนั้น บรรดาธนาคารทำกำไรได้น้อยลง ภาครัฐเข้ามาเพิ่มกรอบเหล็กเพื่อตรวจสอบและควบคุมบรรดาธนาคารใหญ่ๆมากขึ้น  HSBC เป็นหนึ่งในธนาคารที่ฝ่ายการเมืองระบุว่า “ใหญ่เกินกว่าที่จะบริหารจัดการ”

 

หลังโลกผ่านพ้นวิกฤติการเงินหรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ใหม่ๆนั้น HSBC เป็นธนาคารใหญ่ที่ผ่านพ้นช่วงวิกฤติมาได้โดยยังคงแข็งแกร่งในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลายรายที่ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐหรือต้องยอมให้รัฐบาลเข้ามาถือหุ้น แต่แทนที่จะใช้โอกาสดังกล่าวขยายการเติบโตของธนาคาร ผู้บริหารของ HSBC ในยุคนั้น กลับให้ความสำคัญกับการสะสางและล้างภาพลักษณ์ของธนาคารที่ต้องมามัวหมองกับคดีฉาวหลายคดีด้วยกัน ดังนั้น ก่อนหน้าที่ นายจอห์น ฟลินท์ จะก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอแทนนายกัลลิเวอร์ ในปี 2561 ธนาคาร HSBC ก็ล้างปัญหาไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว และผู้ที่มารับตำแหน่งต่อก็ถือว่าได้เข้ามาในช่วงเวลาที่ดีขึ้นกว่าเก่ามาก ดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้น และซีอีโอคนก่อน (สจวร์ต กัลลิเวอร์) ก็ปรับโครงสร้างธนาคารเอาไว้ให้แล้ว การเฉือนขายสินทรัพย์ที่ไม่ทำกำไรก็จัดทำเรียบร้อยไปแล้วก่อนที่นายฟลินท์จะเข้ารับตำแหน่ง โดย HSBC ขายธุรกิจในเครือที่ไม่ทำกำไรออกไปกว่า 100 แห่งในตลาดอย่างบราซิล และยังดึงอำนาจในการบริหารงานของผู้จัดการธนาคารสาขา มาเป็นการควบคุมจากส่วนกลางมากขึ้น  การยกเครื่ององค์กรเป็นไปด้วยดี จนถึงขนาดที่ผู้บริหารของ HSBC เองยังเชื่อว่า ปี 2561 น่าจะเป็นปีที่ธนาคารเริ่มเข้าไปทาบซื้อกิจการที่น่าสนใจได้อีกครั้งและจะเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ทศวรรษ การสะสางปัญหาของสจวร์ตทำให้ธนาคาร HSBC กลับมาแข็งแรงทั้งในด้านเงินทุนและการขยายธุรกิจ

 

ภารกิจไม่ถึงฝั่งฝันของจอห์น ฟลินท์

ยุคของจอห์น ฟลินท์ ซึ่งเป็นลูกหม้อของ HSBC มากว่า 3 ทศวรรษและผ่านงานมาแล้วทุกแผนก เริ่มขึ้นเมื่อเขารับตำแหน่งซีอีโอต่อจากสจวร์ต กัลลิเวอร์ ในเดือนก.พ.ปี 2561 นอกจากฟลินท์แล้ว HSBC ยังได้นายมาร์ค ทัคเกอร์ ผู้บริหารที่เป็นเสือข้ามห้วยมาจากเอไอเอ มาเป็นประธานกรรมการด้วย ตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญในแง่แหล่งสร้างรายได้ของธนาคารใหญ่รายนี้คือภูมิภาคเอเชีย ผู้ถือหุ้นซึ่งถือเป็นบุคคลวงในของ HSBC เปิดเผยว่า ทุกๆ 10 ดอลลาร์ของผลกำไรก่อนหักภาษีทั้งหมดของ HSBC ในจำนวนนี้  8 ดอลลาร์ คือกำไรที่เกิดจากธุรกิจในเอเชีย แต่ถึงกระนั้น กว่าครึ่งของเงินกู้และ 2 ใน 3 ของเงินทุนกลับถูกทุ่มเทไปที่ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า แหล่งทำกำไรของธนาคาร HSBC อยู่ในฮ่องกงและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ขณะที่ทุนก้อนใหญ่ไปติดอยู่ในตลาดสหรัฐฯและยุโรปที่ไม่ทำกำไรมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากดอกเบี้ยอัตราต่ำในภูมิภาคดังกล่าว 

จอห์น ฟลินท์ ลูกหม้อและอดีตซีอีโอ HSBC คนล่าสุดที่ต้องสละตำแหน่งเพื่อการขับเคลื่อนองค์กรตามเป้าหมาย

ภารกิจของฟลินท์ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อเขาถูกประกาศปลดเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยทางธนาคารให้เหตุผลว่า HSBC จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับบนสุดเพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ พร้อมกันนั้น ยักษ์ใหญ่รายนี้ยังประกาศแผนการปลดพนักงาน 2% ทั่วโลก หรือประมาณ 4,000 ตำแหน่งในปีนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของธนาคาร โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปลดเจ้าหน้าที่ในระดับสูง ขณะที่ธนาคารคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินชดเชยพนักงานที่ถูกให้ออกราว 650-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

แหล่งข่าววงในกล่าวว่า ฟลินท์เดินหน้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรช้าเกินไป และทัคเกอร์ที่ก้าวเข้ามาเป็นประธานก็มีความคาดหวังและต้องการเห็นพลังขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงต่างๆจากฟลินท์มากกว่านี้

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดเนื่องจากฟลินท์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ราวปีกว่าๆและ HSBC เพิ่งประกาศผลกำไรในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (2562) ซึ่งพุ่งขึ้นถึง 16% อย่างไรก็ตามนายโนเอล ควินน์ ประธานฝ่ายธนาคารพาณิชย์ระดับโลก จะดำรงตำแหน่ง ‘รักษาการซีอีโอ’ จนกว่าจะหาคนใหม่ได้ นอกจากนี้ HSBC ยังประกาศแผนซื้อหุ้นคืนในวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์อีกด้วย

 

นับว่า HSBC เป็นยักษ์ใหญ่อีกรายในแวดวงธนาคารที่ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกยุคปัจจุบัน และสิ่งที่สำคัญก็คือไม่ว่าจะใหญ่ก็ไหนก็จำเป็นต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และองค์กรยิ่งใหญ่ยิ่งซับซ้อน ก็ยิ่งต้องมีธรรมาภิบาลในองค์กรมากขึ้นตามไปด้วย 

กรรมติดจรวดแบงก์ยักษ์ HSBC พันคดีฟอกเงินหมื่นล้าน

ข้อมูลจำเพาะ HSBC

ก่อตั้งในปีค.ศ. 1865 (พ.ศ.2408)ที่ฮ่องกง ขณะที่อยู่ใต้อาณัติการปกครองของอังกฤษ

เป็นธนาคารสัญชาติอังกฤษ ใหญ่ที่สุดในยุโรปในแง่สินทรัพย์ และเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 7 ของโลก (ปี 2560) 

มูลค่าสินทรัพย์รวม 2.558 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐฯ (ณ สิ้น ธ.ค. 2561)

รายได้ 53,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( สถิติปี 2561)

กำไรจากการดำเนินการ 19,900 ล้านดอลลาร์ ( สถิติปี 2561)

จำนวนพนักงานทั่วโลก 235,217 คน

จำนวนออฟฟิศ 3,900 แห่ง ใน 67 ประเทศทั่วโลก