ไขปริศนา กอร์ดอน วู ทิ้งโฮปเวลล์ ฤาแค่‘นิติกรรมอำพราง’

11 ส.ค. 2562 | 00:30 น.

คอลัมน์ถอดสูตรคุย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3495 หน้า 7

วันที่ 11-14 สิงหาคม 2562 โดย บรรทัดเหล็ก

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่แล้ว นำเสนอข่าวกรณีสำนักงานอัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีค่าโง่โฮปเวลล์ใหม่ หลังจากพบหลักฐานว่าเมื่อปี 2549 บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง ลิมิเต็ดฯ สัญชาติฮ่องกง และนายกอร์ดอน วู ได้ขายหุ้นบริษัทที่ถือทั้งหมดให้กับ บริษัทยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ดฯ สัญชาติมอริเชียส ในราคา 265 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 1 พันล้านบาท พร้อมระบุในเงื่อนไขสัญญาว่าหาก โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) สามารถเรียกเก็บเงินเกินกว่า 2 พันล้านบาท ยูไนเต็ด ซัคเซส จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม 20% ของเงินที่เกิน 2 พันล้านบาทให้กับโฮปเวลล์ฮ่องกง

การใช้เงินนับพันล้านบาทซื้อหุ้นบริษัทที่ถูกรัฐบาลไทยยก เลิกสัญญาสัมปทาน และยังอยู่ระหว่างกระบวนการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในขณะนั้น ทำให้มีคำถามตามมาว่า ฐานะการเงินโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เมื่อปี 2549 มีความน่าสนใจให้มีการ ซื้อขายกิจการมากน้อยแค่ไหน

คำตอบของคำถามน่าจะอยู่ที่รายงานการตรวจสอบงบดุลของบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศ ไทย) ของผู้ตรวจสอบบัญชี ที่ระบุไว้ในหมายเหตุงบการเงิน ในปี 2549 ในหลายประเด็น

เริ่มจากหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1 ผู้ตรวจสอบบัญชีเห็นว่า หลังจากกระทรวงคมนาคมได้ออกหนังสือยกเลิก สัญญาสัมปทานที่มีกับบริษัทและสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างการโต้แย้ง วันที่ 30 มิถุนายน 2549 และ 2548 บริษัทได้บันทึกต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสัมปทานจํานวน 18,454 ล้านบาท และ 19,346 ล้านบาทตามลําดับ เป็นสินทรัพย์ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 และ 2548 บริษัทยังมิได้เริ่มดําเนินงานในเชิงพาณิชย์และสินทรัพย์ของบริษัทยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจํานวน 4,313 ล้านบาท และ 5,204 ล้านบาท วันที่ 30 มิถุนายน 2549 และ 2548 ตามลําดับ

ไขปริศนา  กอร์ดอน วู ทิ้งโฮปเวลล์  ฤาแค่‘นิติกรรมอำพราง’

การดําเนินงานต่อเนื่องของ บริษัทและจํานวนที่จะได้รับคืน ของมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ ของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของโครงการในอนาคตและความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนของบริษัทสําหรับโครงการดังกล่าวหรือการที่จะได้รับคืนของสินทรัพย์ดังกล่าวโดยวิธีอื่น

รายงานผู้ตรวจสอบบัญชียังพบว่าบริษัทยังมีหนี้สินกับเจ้าหนี้รายอื่นอีกหลายราย แต่ที่น่าสนใจคือผู้ตรวจสอบบัญชีได้ทําการขอคํายืนยันยอดของบัญชีเจ้าหนี้การค้าบางราย และเจ้าหนี้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งมียอดคงเหลือตามบัญชี วันที่ 30 มิถุนายน 2549 เป็นจํานวนเงิน 933 ล้านบาท และ 2,127 ล้านบาท ตามลําดับ แต่บริษัทไม่อนุญาตให้ดําเนินการ แถมไม่ยอมให้ข้อมูลกับผู้ตรวจสอบบัญชีด้วย

ถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพกันแล้วว่าฐานะการเงินของบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในปี 2549 เป็นอย่างไร มีแรงจูงใจมากพอที่วิญญูชนทั่วไปยอมควักเงิน 1 พันล้านบาทซื้อกิจการหรือไม่?

เมื่อพลิกดูในรายละเอียดประกาศขาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เขียนไว้ในข้อ 4 ผู้เขียนก็ถึงบางอ้อ เพราะการซื้อขายหุ้นครั้งนั้นยังไม่ได้มีการจ่ายเงินกันจริง แถมยังระบุไว้ ในทำนองว่า ถ้าโฮปเวลล์  (ประเทศ ไทย) ไม่ได้รับเงินจากการเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย ยูไนเต็ด ซัคเซส ก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับ โฮปเวลล์ ฮ่องกง ดังนี้

4. ตามเงื่อนไขของข้อตกลง ยูไนเต็ด ซัคเซส จะต้องชำระเงิน 500,000,000 บาท (เท่ากับ HK$ 95,000,000) ให้กับบริษัทนี้ ตามเงื่อนไขต่อไปนี้ : (I) เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับค่าชดเชยตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงหรือ

(II) หากเหตุการณ์ไม่เกิดขึ้นภายใน 3 ปีนับจากวันที่หมดอายุของข้อตกลง (ถ้ายูไนเต็ด ซัคเซสร้องขอการขยายเวลาเป็น 6 ปี) ในกรณีของ (II) ถ้าคำพิพากษาของศาลไทยหรือการพิจารณาคดี ทำให้บริษัท โฮป เวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิ์รับค่าชดเชย (การฟ้องร้องหรือการเรียกร้องค่าชดเชยถูกจำกัดเวลา) ซึ่ง ยูไนเต็ด ซัคเซส ไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ให้กับบริษัทในกรณีที่ดังกล่าว และบริษัทนี้มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกสัญญา และบริษัทไม่จำเป็นต้องโอนหนี้สินให้แก่ ยูไนเต็ด ซัคเซส หรือตัวแทนของ ยูไนเต็ด ซัคเซส

บริษัทนี้ ยังมีสิทธิ์ที่จะขอโอนคืนหุ้นของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขายให้กลับมา บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศ ไทย) จำกัด จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนดหลังจากที่ได้รับค่าชดเชย

ไม่ว่าสัญญาซื้อขายหุ้นครั้งนั้นจะเป็นการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่ แต่ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) แจ้งเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย

กล่าวคือเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ จากบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด ฮ่องกงมาเป็น ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด และไม่มีชื่อกอร์ดอน วูถือหุ้นในบริษัทอีกต่อไป

ที่น่าสนใจคือมีคนไทย 6 คนโผล่เข้ามาถือหุ้นคนละ 1 หุ้น ประกอบด้วยไชยยันต์ ชาติกุล- วิชชุดา ศรีรัตนประภาศ-ศุนันทา นิศกุลรัตน์-นิตยา เกียรติเสรี-ศุนันท์ พิพัฒน์สมบัติ-ศรีรัชฎ์ ปัญจพรรค์

 

ไขปริศนา  กอร์ดอน วู ทิ้งโฮปเวลล์  ฤาแค่‘นิติกรรมอำพราง’