ดึงทุนพลาดเป้า 3 หมื่นล. บีโอไอเร่งอัดโรดโชว์

14 ส.ค. 2562 | 04:05 น.

 

บีโอไอ เผยครึ่งแรกปี 2562 ยอดขอรับส่งเสริมในอีอีซีพลาดเป้า 3.19 หมื่นล้านบาท เหตุนักลงทุนรอความชัดเจนรัฐบาลใหม่สานต่ออีอีซี ยืนยันครึ่งปีหลังเร่งขับเคลื่อนให้ได้ตามเป้า 3 แสนล้านบาท รุกโรดโชว์ต่อเนื่อง เน้นนักลงทุนญี่ปุ่นและจีน

ผ่านมาแล้วครึ่งแรกปี 2562 ที่ดูเหมือนว่า ภาวะการลงทุนของประเทศยังห่างเป้าหมายอีกมาก จากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ พบว่า การขอรับส่งเสริมการลงทุน (มกราคม-มิถุนายน) มียอดรวม 758 โครงการ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าลงทุน 2.32 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17% โดยเฉพาะในการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มีจำนวน 227 โครงการ เพิ่มขึ้น 39% มูลค่าลงทุน 1.18 แสนล้านบาท ลดลง 38% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุน่าจะมาจากนักลงทุนรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และความชัดเจนในการสานต่อโครงการอีอีซี

ทั้งนี้ บีโอไอได้ตั้งเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของปีนี้ไว้ที่ 7.5 แสนล้านบาท เป็นส่วนของพื้นที่อีอีซีราว 3 แสนล้านบาท หากพิจารณาจากมูลค่าการลงทุนที่ผ่านมา บีโอไอยังต้องทำการบ้านอีกมาก เพื่อดันยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีอีก 1.8 แสนล้านบาท ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาพลาดเป้าหมายไป 3.19 หมื่นล้านบาท จากที่ตั้งไว้ราว 1.5 แสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงเวลาที่เหลือครึ่งปีหลังนี้ บีโอไอจะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้การขอรับส่งเสริมการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งในระดับประเทศและในพื้นที่อีอีซี ที่มีแผนจะนำคณะออกไปเชิญชวนนักลงทุนหรือโรดโชว์ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำ โดยเฉพาะในจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้รุกเป็นพิเศษ

 

ดึงทุนพลาดเป้า 3 หมื่นล.  บีโอไอเร่งอัดโรดโชว์

 

นอกจากนี้ ยังมีประเทศเป้าหมายอื่นที่ต้องเกาะติดไว้ ทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ซึ่งจะมีคณะชักจูงการลงทุนเดินทางไปเช่นเดียวกัน และในเดือนตุลาคมนี้ บีโอไอมีแผนจะจัดสัมมนาใหญ่สำหรับนักลงทุนเกาหลีในประเทศไทยในพื้นที่อีอีซีที่จังหวัดชลบุรีด้วย


 

 

“ในแต่ละปี บีโอไอจะมีคณะออกไปชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ 40-50 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 3-4 ครั้ง หากเป็นการจัดสัมมนาใหญ่ในประเทศเป้าหมายสำคัญหรือการพบปะผู้นำระดับประเทศและผู้บริหารระดับ CEO ของนักลงทุนรายสำคัญ จะมีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี นำคณะไปเชิญชวน รองลงมาก็จะมีคณะที่นำโดยผู้บริหารบีโอไอ ซึ่งยังไม่นับรวมถึงการจัดกิจกรรม ของสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศทั้ง 16 แห่งเองอีกด้วยและทุกครั้งที่มีกิจกรรมชักจูงการลงทุนบีโอไอจะนำเสนอศักยภาพทั้งของอีอีซี และประเทศไทยในภาพรวมไปพร้อมๆ กัน”

อย่างไรก็ตาม มองว่าในการดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือในพื้นที่อีอีซีนี้ ก็มีประเทศคู่แข่งที่หมายปองโครงการลงทุนที่มีคุณค่าสูง ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่มีความพร้อมของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานกำลังคนที่มีคุณภาพ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐต่างๆ กำลังพยายามช่วยกันปลดล็อกอุปสรรค แก้ไขปัญหา สร้างจุดขายใหม่ๆ และสร้างปัจจัยพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแข่งกับประเทศต่างๆ ได้

 

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ไปรวบรวมสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของประเทศว่าในและนอกพื้นที่อีอีซีมีความแตกต่างกันอย่างไร และการส่งเสริมใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ เพื่อจะนำมาปรับปรุงให้สิทธิประโยชน์เหนือกว่าคู่แข่งขันอย่างไรเวียดนาม และจะนำเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ จะช่วยตอบโจทย์ด้านการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนนี้ จะเชิญคณะนักลงทุนจีนราว 300 คน มารับฟังข้อมูลการลงทุนต่างๆ และพาดูพื้นที่จริงในอีอีซีด้วย

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3495 วันที่ 11-14 สิงหาคม 2562

ดึงทุนพลาดเป้า 3 หมื่นล.  บีโอไอเร่งอัดโรดโชว์