ความอิสระนโยบายการเงิน ต้องอยู่บนความรับผิดชอบ

10 ส.ค. 2562 | 06:15 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3495 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-14 ส.ค.2562

 

ความอิสระนโยบายการเงิน

ต้องอยู่บนความรับผิดชอบ

             

                  กลายเป็นประเด็นร้อนและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางหลังจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทเพื่อดูแลด้านการเงินการคลังของประเทศให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน

                  อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากสิ่งที่ดร.สมคิดกำลังสื่อสาร ก่อนอื่นคงต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาส่งครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่มีการตั้งกำแพงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน กระทบต่อตลาดหุ้น และการส่งออกสินค้าทั่วโลก ในอนาคตหากการค้าโลกลดลง การส่งออกของไทยก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย โอกาสที่จะขยายตัวในอัตราสูงมีน้อย และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมในที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่าการส่งออกคิดเป็น 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

                  นอกจากนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับค่าเงินบาทที่แข็งอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น โดยดร.สมคิด ระบุอย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยแข็งเกินไป ทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเพื่อส่งออกไม่เข้ามาลงทุน เพราะส่งออกแล้วขาดทุน จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างไป ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องผลักดันนโยบายการเงินการคลังของคณะกรรมการชุดที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นมาออกไปสู่ภาคปฏิบัติ รวมทั้งควรดึงผู้เชี่ยวชาญในแต่ละภาคส่วนเข้ามาร่วม เพื่อให้มีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญ

                  อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายฝ่ายกังวลว่าคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาท โดยหยิบคำพูดดร.สมคิดที่ระบุว่า “จะบอกว่าผมอิสระ เมืองไทยไม่มีแล้วอิสระ ฉะนั้นการเงินการคลังมันต้องไปด้วยกัน มือซ้ายกับมือขวาต้องไปด้วยกัน”

                  เราเห็นด้วยกับข้อกังวลดังกล่าว โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่มาจากฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. เพราะการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินบาทมีทั้งคนได้-คนเสียประโยชน์ แต่ธปท.เองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลดำเนินนโยบายการเงินทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท ในภาคปฏิบัติด้วย