ติดดาบบอร์ดลุ่มน้ำ...พระเอกใหม่แก้แล้ง-น้ำท่วม

12 ส.ค. 2562 | 03:16 น.

 

สถานการณ์น้ำแล้ง-น้ำท่วมแต่ละพื้นที่แต่ละปียังเอาแน่เอาแน่เอานอนไม่ได้เนื่องจากเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ดังนั้น  โครงสร้างองค์กรบริหารจัดการน้ำของประเทศจึงมีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงชั้นบนสุดอย่างคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นฝ่ายเลขานุการแต่เพียงเท่านั้น

                ยังมีอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ ลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำ และองค์กรผู้ใช้น้ำ ระดับบนสุดอย่าง กนช. มีมาก่อนแล้ว ส่วน สทนช. เพิ่งจัดตั้งเมื่อปี 2560 ทำหน้าที่เลขานุการ กนช. แทนกรมทรัพยากรน้ำ และมี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  27 มกราคม 2562 เป็นเครื่องมือในการบริหาร

                คณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำเป็นเลขานุการก็มีมาก่อนแล้วเช่นกัน แต่ไม่มีบทบาทเป็นที่ประจักษ์ รับรู้แค่เป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำเท่านั้นแต่พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ติดดาบให้คณะกรรมการลุ่มน้ำอย่างชัดเจน มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการน้ำในเขตลุ่มน้ำ แล้วยังมีอำนาจหน้าที่อีก 11 ประการ อาทิ

จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขต 22 ลุ่มน้ำเสนอ กนช.ให้ความเห็นชอบ จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมเสนอ กนช. ให้ความเห็นชอบ  พิจารณาปริมาณการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำและควบคุมการใช้น้ำตามกรอบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่ กนช. กำหนด

เอากันแค่เบาะๆไม่กี่ประการก็จะเห็นถึงโฉมหน้าและบทบาทใหม่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

สรุปอีกที คณะกรรมการลุ่มน้ำคือพระเอกในแต่ละเขตลุ่มน้ำ

                พระเอกเป็นทีมนี้ ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  กรรมการประกอบด้วยส่วนราชการเกี่ยวข้อง อาทิ  ตัวแทนกรมควบคุมมลพิษ  กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมที่ดิน กรมประมง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นต้น 

 แล้วยังมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตลุ่มน้ำจังหวัดละ 1 คน ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ภาคละ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำ 4 คนโดยมีตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาคใน สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ  เพื่อส่งไม้ต่อไปยัง สทนช. ส่วนกลาง กลั่นกรองเข้าสู่ กนช. อีกที

โครงสร้างและบทบาทใหม่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ  เท่ากับเป็นการกระจายอำนาจการจัดการน้ำเป็นรูปธรรมมากขึ้น  เพราะสามารถจัดทำและเสนอแผนขึ้นไปสู่องค์กรบริหารจัดการน้ำส่วนบนสุดของประเทศได้

                ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า  คณะกรรมการลุ่มน้ำมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายลูกออกมา เพื่อเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำชุดใหม่ทำงานภายใต้บริบทใหม่

                นอกจากนี้ยังมีองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดได้ประโยชน์จากน้ำโดยตรง รวมกลุ่มบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เชื่อมต่อกับกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านี้ อาจจัดตั้งและขึ้นทะเบียนการใช้น้ำจากแหล่งน้ำของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งท้ายสุดต้องขึ้นทะเบียนกับ สทนช.ทั้งหมด

                ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า องค์กรบริหารจัดการน้ำของประเทศ ตั้งแต่ระดับบนสุด ระดับลุ่มน้ำ และระดับผู้ใช้น้ำ มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่ชัดเจน เป็นลักษณะการบริหารควบคู่สองทาง ทั้งจากบนลงล่าง และเสนอจากล่างขึ้นบน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ

               ติดดาบบอร์ดลุ่มน้ำ...พระเอกใหม่แก้แล้ง-น้ำท่วม

  “เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ในเขตลุ่มน้ำได้รับรู้สิ่งเหล่านี้ สทนช. จึงจัดสัมมนาบริบทใหม่การบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.
2561  ซึ่งประเดิมจัดแห่งแรกไปแล้วในจ.อุดรธานี และทะยอยจัดขึ้นจังหวัดอื่น จนครบจำนวน 9 ครั้งครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ”

ทั้งนี้ ผลจากการระดมสมองจะนำไปใช้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการลุ่มน้ำสำหรับปีงบประมาณ 2564 ที่จัดทำล่วงหน้าควบคู่ไปด้วยการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศในทางปฏิบัติ ทวีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ  ฉายภาพและทิศทางชัดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน