ผู้ว่าแบงก์ชาติตีกันรัฐแทรกแซงกนง.

13 ส.ค. 2562 | 07:52 น.

 

ผู้ว่าธปท.ยันคณะกรรมการร่วมดูแลการเงินการคลัง-เสถียรภาพระบบการเงิน ไม่มีผลต่อการตัดสินใจกนง. เชื่อทุกฝ่ายพร้อมร่วมรับมือเศรษฐกิจโลกผัวผวน-ความเสี่ยงการค้าตึงเครียด เหตุต้องใช้ข้อมูลหลากมิติ เผยพร้อมใช้เครื่องมือดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในภาวะดอกเบี้ยต่ำ

 

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมดูแลการเงินการคลัง (ไฟแนนซ์เชียลทีม) ที่ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธปท. กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นต้น เพื่อดูแลและเตรียมรับมือความผันผวนจากความเสี่ยงโลกที่มีมากขึ้น ทั้งจากปัญหาสงครามการค้า และเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ดียิ่งขึ้น และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน แต่ยังไม่ทราบความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว แต่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นปกติ เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าและการกีดกันทางการค้าต้องการความร่วมมือที่หลากหลาย

ผู้ว่าแบงก์ชาติตีกันรัฐแทรกแซงกนง.

อย่างไรก็ตามประเทศไทยขาดกลไกของการมองเสถียรภาพระบบการเงินทั้งระบบ เพราะจะเห็นว่าธปท.กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์บางประเภท กลต.กำกับดูแลตลาดทุน คปภ.ดูแลประกันภัย กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ดูแลสหกรณ์ และคลังดูแลนอนแบงก์บางประเภท แต่เวลาดูระบบการเงินจะมีความเชื่อมโยงกันสูง ดังนั้น เป็นข้อเสนอ ธปท. ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วว่าอาจจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการที่มาดูในเรื่องของเสถียรภาพการเงินไทยทั้งระบบ เพื่อให้ว่าเวลาทำมาตรการต่างๆ จะได้เชื่อมโยงกัน

 

นายวิรไทชี้ว่า เงินทุนเปรียบเหมือนน้ำ จะไหลจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเสมอ หากทำมาตรการบางอย่าง แล้วผู้กำกับดูแลอาจไม่ได้ทำ เงินจะไหลไปสู่แหล่งที่มีกฎเกณฑ์ต่ำกว่า ทำให้มาตรการเหล่านั้นอาจไม่ได้ผล และอาจมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินทั้งระบบในระยะยาวได้ จึงเป็นแนวคิดที่ธปท.เสนอตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่อาจจะมีการผนวกกับบางเรื่องที่มีความกังวลในขณะนี้ เช่น เรื่อง สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางอ่อนไหวมากขึ้น จากบรรยากาศกีดกันทางการค้า หรือความผันผวนต่างๆ จึงต้องมีคณะกรรมการที่จะมาดูแลเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน เพื่อดูให้แน่ใจว่า การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะในภาคที่ยังไม่ค่อยมีผู้กำกับดูแลที่ชัดเจน หรือ ธนาคารเงา ได้รับการกำกับดูแลในทิศทางเดียวกัน และลดความเสี่ยงในระยะยาว

ผู้ว่าแบงก์ชาติตีกันรัฐแทรกแซงกนง.

“ต้องเข้าใจก่อนว่าคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด อย่าเอามาปนกัน ชุดแรกเป็นชุดที่ธปท.เสนอไปตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เรื่องการเข้ามาดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวและไม่เป็นผลต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เพราะแต่ละคณะกรรมการ หรือแต่ละหน่วยงาน ต่างมีหน้าที่และบทบาทที่ตัวเองต้องทำและดูแลอยู่แล้ว เพราะแต่ละที่ก็ยังมีอำนาจตามกฎหมาย ที่เราจะต้องทำตามอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการเหมือนเป็นที่ปรึกษามากกว่ามาพูดคุยเรื่องข้อมูลเป็นในทิศทางเดียวกันเท่านั้น เป็นเรื่องปกติที่ต้องหรือกันในหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มาตรการกีดกันทางการค้า เราต้องการความร่วมมือหลากหลายมิติ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคลัง มาตรการทางการเงินที่อาจเกี่ยวกับสถาบันการเงิน”

ในการตัดสินใจของกนง.ในการลดดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจที่ต่างไปจากกรอบที่ประมาณการไว้ เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีบรรยากาศทางการค้าที่ตึงเครียดมากขึ้น อันนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเห็นผลกระทบจากราคาพลังงานที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของ ซึ่งเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ขณะเดียวกันเริ่มเห็นภาคการส่งออก ชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่จากบรรยากาศกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปที่การจ้างงานสู่การบริโภค การลงทุนภายในประเทศ ทำให้กนง.จึงตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง

ผู้ว่าแบงก์ชาติตีกันรัฐแทรกแซงกนง.

หากดูในแถลงรายงานของคณะกรรมการยังให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่มีมาตรการบางอย่างเริ่มส่งผลในทิศทางที่ธปท.ต้องการ แต่ในภาพที่อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องยิ่งจำเป็นต้องดูมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และเพื่อไม่ให้สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจในอนาคต เป็นตัวอย่างที่ต้องผสานเครื่องมือและนโยบายต่างๆ ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายดอกเบี้ย และนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงินเข้ามาดูแล