SME ครวญ ยอดไลก์เยอะ  สวนออร์เดอร์หด50%

16 ส.ค. 2562 | 08:35 น.

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประสานเสียงยอดขายออนไลน์ตกเกือบ 50% เหตุผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา  ระบุยอดไลก์มีมากแต่ไม่มีคำสั่งซื้อ ชี้การแข่งขันรุนแรงลูกค้าเลือกซื้อจากโปรโมชันที่ดีที่สุด

คงต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศเกิดการชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากการปรับคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) อย่างต่อเนื่องจากหลายองค์กรทางเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี  ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนเกิดความมั่นใจ  ทำให้มีการจับจ่ายซื้อสินค้าในปริมาณที่ลดลง หรือใช้จ่ายเฉพาะเท่าที่จำเป็น ไม่เว้นแม้กระทั่ง
การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์  ซึ่งเป็นช่องทางในการใช้จ่าย
ยอดนิยมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเป็นกอบเป็น
กำ แต่ปัจจุบันกลับมียอดการใช้จ่ายที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

SME ครวญ  ยอดไลก์เยอะ   สวนออร์เดอร์หด50%

นางสาวธนวัน ปันทะโชติ  เจ้าของแบรนด์กาแฟเพื่อสุขภาพ แคนเดลาคอฟฟี่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บนช่องทางออนไลน์ลดลงประมาณ 30-50% ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งมองว่ามาจากการที่ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจนก็คือจำนวนผู้ที่มากดถูกใจ หรือไลก์ (Like) เพจไม่ได้ลดลง  แต่ปริมาณการซื้อกลับลดลงสวนทางกัน

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมดังกล่าวมาจากการที่ผู้บริโภคต้องการหาผลิตภัณฑ์ที่ราคาไม่แพง  และมีความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายมากขึ้น  ดังนั้น  จึงพยายามเสาะหาร้านค้าที่จัดโปรโมชันกระตุ้นการใช้จ่ายได้มากที่สุด แม้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นจะไม่ได้มีคุณสมบัติเทียบเท่ากัน  หรือเรียกว่าเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดแทนกันได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย  ยกตัวอย่างเช่น กาแฟ  ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายที่เข้ามาทำธุรกิจ โดยแต่ละแบรนด์ก็จะมีราคา และคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปตามวัตถุดิบที่เลือกใช้ ผู้บริโภคก็จะพยายามหาเจ้าที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับที่ตนเองต้องการมากที่สุดในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป เป็นต้น

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายในการเข้าถึงข้อมูลของเฟซบุ๊ก จากเดิมที่แบรนด์เคยซื้อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางดังกล่าวแล้วมียอดขายเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลายเดือน  แต่ปัจจุบันการซื้อโฆษณาหนึ่งครั้งจะมียอดขายจำนวนมากแค่เพียงเดือนเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นแทบจะไม่มีผู้บริโภคติดต่อเข้ามาเลย ทำให้แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการซื้อโฆษณาเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับทำแคมเปญโปรโมชันใหม่  แม้ว่าอาจจะทำให้ผลตอบแทนในรูปของกำไรลดน้อยลงก็ตาม

“แบรนด์มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำโปรโมชันใหม่ตลอด  เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายในการเลือกซื้อสินค้า จึงมีการเปรียบเทียบแบรนด์ต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะฉะนั้น  จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่สามารถจัดโปรโมชันได้ดึงดูดมากที่สุด หรือเรียกว่าความจงรักภักดีต่อแบรนด์หาได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน”  

นางสาวปาริชาติ แก้วกิ่ง  เจ้าของธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่ และผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
ยอดขายบนช่องทางออนไลน์ลดลงเกือบ 50% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จำกัดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีเท่าใดนัก ทำให้ต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อีกทั้งยังมีผู้แข่งขันในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีการกระตุ้นยอดขายในรูปแบบเดียวกันผ่านการไลฟ์สด และการจัดโปรโมชันดึงดูดความสนใจ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือยอดการกดไลก์ของผู้ที่เข้าชมไม่ได้ตกลง แต่ยอดคำสั่งซื้อกลับไม่กระเตื้องขึ้น   โดยแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีการกดดูการจำหน่ายสินค้าจากหลากหลายเพจ  เพื่อเปรียบเทียบราคาของสินค้า และโปรโมชันที่ดีที่สุด  หรือผู้ประกอบการที่จะขายได้ดีก็จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ขณะที่บางรายยอดไลก์แทบไม่มีแต่กลับสามารถจำหน่ายสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง  จากฐานลูกค้าเดิมที่ประทับใจในการให้บริการ และคุณภาพของสินค้าที่ได้รับ

“บางทีการที่มียอดไลก์จำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่ามีผู้เข้าชมที่มีตัวตนจริง หรือสนใจในสินค้า เนื่องจากในปัจจุบันมีบริการรับจ้างกดไลก์ เพื่อดันเพจให้เป็นที่สนใจอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในยุคนี้ก็คือการสร้างความแตกต่างแบบมีคุณภาพ เพื่อให้ลูกค้าประทับใจ” 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3496 วันที่ 15-17 สิงหาคม 2562

SME ครวญ  ยอดไลก์เยอะ   สวนออร์เดอร์หด50%