หวั่นกฎคุมปล่อยกู้ฉุดสินเชื่อรายย่อยหด

15 ส.ค. 2562 | 11:45 น.

 

แบงก์หวั่นเกณฑ์คุมภาระหนี้ต่อรายได้(DSR) กดสินเชื่อรายย่อยปี 62 หดตัวเหลือโต 4.5% จากปีก่อนขยายตัว 10.1% “ทีเอ็มบีประเมินสินเชื่อ 1.1 ล้านล้านบาท เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง DSR เกิน 60% จับตา บ้านแลกเงิน-จำนำทะเบียน-สินเชื่อบุคคลกระทบก่อนกลุ่มอื่น

จากปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่พุ่งสูงขึ้นเกือบแตะระดับ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือเป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ใช้นโยบายคุมเข้มการก่อหนี้ครัวเรือนผ่านมาตรการกำหนดมูลค่าสินเชื่อต่อหลักประกัน (LTV) ในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว และที่กำลังจะทำเพิ่มเติมคือมาตรการสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้(DSR)

 

หวั่นกฎคุมปล่อยกู้ฉุดสินเชื่อรายย่อยหด

นริศ สถาผลเดชา

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ภาพรวมยอดสินเชื่อรายย่อยคงค้างไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาทพบว่า ในจำนวนดังกล่าว 1 ใน 4 หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทคิดเป็น 24% ของยอดสินเชื่อรายย่อยคงค้างทั้งหมด เป็นกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงจะมีสัดส่วน DSR เกิน 60% ที่อาจได้รับผลกระทบหากธปท.ออกเกณฑ์กำกับออกมา

ทั้งนี้ หากดูสินเชื่อที่จะมีผลต่อ DSR จะเป็นกลุ่มสินเชื่อบ้านแลกเงิน หรือ Home Equity กระทบมากที่สุด เพราะยอดสินเชื่อกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 1.2 แสนล้านบาทอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีสัดส่วน DSR อยู่ในระดับสูง ขณะที่สินเชื่อจำนำทะเบียน หรือ Car for Cash แม้ว่ายอดสินเชื่อคงค้างที่ 6.5 หมื่นล้านบาท ไม่สูงมาก แต่มีจำนวนบัญชีถึง 2.97 แสนบัญชีจึงเป็นกลุ่มที่ต้องระวังเช่นกัน

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล(Personal Loan)ถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตาและต้องเฝ้าระวัง เพราะมีอัตราเติบโตค่อนข้างสูง มียอดสินเชื่อต่อหัวเฉลี่ย 3.17 แสนบาทใกล้เคียงกับสินเชื่อรถยนต์ แต่สูงกว่าสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันและเป็นสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคล้วนๆ เมื่อเทียบสินเชื่อรถยนต์และจำนำทะเบียนรถที่มีหลักประกัน ทั้งนี้หากดูยอดสินเชื่อส่วนบุคคลคงค้างพบว่า 1 ใน 3 หรือราว 2 แสนล้านบาทอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มี DSR สูงเช่นกัน

แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมถึงมาตรการ LTV และผลจาก DSR ที่จะเข้ามา จะทำให้สินเชื่อรายย่อยเติบโตชะลอลงเหลือ 4.5% จากปี 2561 ที่ขยายตัวถึง 10.1% เพราะเศรษฐกิจเติบโตดี โดยจะเห็นว่า สินเชื่อรถยนต์ปี 2561 ขยายตัวสูง 12.6% จะลดเหลือ 6% ในปีนี้ เช่นเดียวกับจำนำทะเบียนรถที่จะขยายตัวเพียง 6% จากปีก่อน 16% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลเหลือโต 4.9% จากปีก่อน 8.8% บ้านแลกเงินขยายตัว 6% จาก 11.6% และสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 3.5% จาก 7.8% และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเพียง 5.5% จากปีก่อน 7.4%”

นายป้อมเพชร รสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน)กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า หากธปท.มองว่า สถาบันการเงินยังสามารถปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพและสามารถบริหารจัดการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ได้ดี เชื่อว่า คงไม่ออกเกณฑ์ที่เข้มงวดออกมา

ทั้งนี้วิธีคำนวณรายได้กลุ่มที่เป็น salary base จะดูจากเอกสาร เช่น สลิปเงินเดือน statement รวมถึงเช็กความมั่นคงของบริษัทที่ทำงาน อายุงาน ตำแหน่ง (Checker verify) เพื่อให้มั่นใจเรื่องความสามารถในการหารายได้ ส่วนกลุ่ม self employment มีทั้งดูจากเอกสาร เช่น statement เอกสารสัญญาเช่า เอกสารซื้อสินค้า ลงพื้นดูสถานที่ประกอบอาชีพว่า มีความเป็นไปได้กับการค้าขายโดยการวิเคราะห์ต้องมั่นใจว่า ลูกค้าสามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ ซึ่งเฉลี่ยส่วนใหญ่ DSR ประมาณ 50-70%

หวั่นกฎคุมปล่อยกู้ฉุดสินเชื่อรายย่อยหด

 

 “หากดูสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ที่ให้กับลูกค้าปัจจุบันเฉลี่ย 50% ค่อนข้างตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมที่ส่วนใหญ่อยู่ที่  70% แต่การพิจารณาขึ้นกับความเหมาะสมของลูกค้าเช่น บางรายอาจอยู่ที่ 50% ของค่างวด ซึ่งลูกค้าอาจจะมีหนี้เพิ่มอีกเล็กน้อยได้ ไม่เกิน 5-10% ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์กำหนด

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า มาตรการคุม DSR โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ตํ่ากว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ทำให้ธนาคารต้องกลับมาทบทวนแผนธุรกิจรายย่อยใหม่จากเดิมที่เน้นขยายธุรกิจไปยังกลุ่มระดับล่าง รวมถึงกลุ่มลูกค้าเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร(PayRoll) ที่มีอยู่กว่า 2 ล้านราย เนื่องจากมีหน ี้อยู่สถาบันการเงินแห่งอื่นด้วย ธนาคารจึงอาจต้องปรับกลยุทธ์ให้ลูกค้ารีไฟแนนซ์หนี้มาอยู่กับธนาคารทั้งหมด  

หวั่นกฎคุมปล่อยกู้ฉุดสินเชื่อรายย่อยหด

วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 39 วันที่ 15-17 สิงหาคม 2562

หวั่นกฎคุมปล่อยกู้ฉุดสินเชื่อรายย่อยหด