วิชัน‘ศักดิ์สยาม’ นโยบายขายฝัน ...หรือทำได้จริง?

15 ส.ค. 2562 | 23:20 น.

 

กลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อนพูดกันทั่วบ้านทั่วเมืองสำหรับ นโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ากระทรวงวันแรกๆ กระทั่งแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยเฉพาะการลดค่าโดยสาร, ค่าผ่านทางทั้งระบบ เจตนาต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน ผู้เดินทาง

ที่กระชากใจคนเมืองมากสุดคือการ สั่งศึกษาปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าแต่เหมือนฟ้าคำรามเมื่อผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครสังกัดกระทรวงมหาดไทยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ออกมาตอกยํ้าว่า “ทำได้ยาก” เนื่องจากอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้ามีข้อผูกมัดทางสัญญากับเอกชนผู้รับสัมปทานและทันทีที่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ทั้งเหนือ (หมอชิต-คูคต) และ ใต้(แบริ่ง-สมุทรปราการ) มีอันต้องขยายสัมปทานเดินรถ 30 ปี ให้กับเอกชน แลกกับภาระหนี้ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ไม่ต่างกับใต้ดินเอ็มอาร์ที สายสีนํ้าเงิน ขณะทางด่วน กับมอเตอร์เวย์ ส่วนที่รัฐดูแลเองสามารถปรับลดได้ แต่หากเป็นเส้นทางสัมปทาน ระวังจะซํ้ารอยค่าโง่ ที่ยังเป็นงูกินหางในปัจจุบัน แต่หากทำได้ เรียกว่าต้องถอนขนห่านกันเป็นกระบุง

ประเด็นร้อนยังไม่จบเพียงเท่านี้ ล่าสุด รมว.คมนาคม มีนโยบายไม่บังคับผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัส เล่นเอามึนงงกันไป หลังจากที่ผ่านมามีเสียงเชียร์กระหึ่ม ว่าต้องเน้นความปลอดภัย รถโดยสารต้องใหม่ พร้อมเดินทาง ขณะซีกรถตู้ดูเหมือน ถูกอกถูกใจแถม ยังขยายอายุการใช้งานจาก 10 ปีเป็น 12 ปี พร้อมให้เหยียบคันเร่ง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหมือนรถทุกชนิดจากเดิม 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรียกว่าสวนทางนโยบายรัฐบาลชุดก่อน และ กรมการขนส่งทางบก อาจจะ “นะจังงัง” ทำอะไรไม่ถูก เพราะก่อนหน้านี้ สั่งเอาจริงยกระดับความปลอดภัย โดยยํ้าวันที่ 1 ตุลาคม 2562 รถตู้โดยสารอายุใช้งาน 10 ปี อีก 1,175 คัน ทุกเส้นทางต้องหยุดวิ่ง เปลี่ยนไปใช้มินิบัส หรือรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทน

วิชัน‘ศักดิ์สยาม’ นโยบายขายฝัน ...หรือทำได้จริง?

ด้านคนในโลกโซเชียล สะท้อนเสียง รถตู้ กับรถมินิบัส มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น “เข้าทางกิจการรถตู้ ที่รัฐบาลประยุทธ์ 1 ล้างบาง เสียดายโครงการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นมินิบัสของคมนาคมจริงๆ อุตส่าห์ปั้นมาหลายปีพอนักการเมืองมาก็ล้มเอาดื้อๆ ผู้โดยสารเผชิญชะตากรรมต่อไป” ขณะอีกราย มีความคิดเห็นสอดคล้องกับท่านว่าการคมนาคม โดย ระบุว่า “ผู้รับผิดชอบคงมีข้อมูลอยู่ในมือมากแล้ว รถที่หมดอายุก่อนหน้านี้ (ผู้มีทุนพร้อม) ก็ทยอยเปลี่ยนเป็นมินิบัสกันมากมายอยู่แล้วส่วนรถที่ไม่พร้อม (ไม่มีทุน) ก็ยกธงขาวเลิกไปเลยก็เยอะ” เรียกว่าน่าจะรับส้มหล่นกันไปในสมัยครั้งกระโน้น

วิชัน‘ศักดิ์สยาม’ นโยบายขายฝัน ...หรือทำได้จริง?

นอกจากนี้ อีกรายแสดงความคิดเห็นว่า “ผู้ขายรถมินิบัสก็ได้ประโยชน์ไปแล้ว และรถตู้ตัวใหม่ล่าสุดก็วางตลาดเปิดขายและออกวิ่งให้เห็นมากมายขณะรถตู้รอบหลังอีก 4-7 ปีถึงจะหมดอายุ ที่สำคัญรถตู้ที่ไม่มีทุนก็ล้มหายตายจาก ผู้รับผิดชอบมองปัญหาออกเกรงว่าผู้โดยสารจะได้รับความเดือดร้อนจึงต้องออกนโยบายนี้มาเพื่อดับร้อน เพราะรถตู้คันหนึ่งราคาประมาณ 1.3 ล้านบาท หากกำหนด 10 ปีหมดอายุ คิดว่าไม่น่าลงทุน

 

อีกเสียง เข้าใจว่าน่าจะเป็นผู้ประกอบการรถตู้ ฉายภาพให้เห็นว่า กรณี รถตู้วิ่ง (ด่านสิงขร-ประจวบ) ขาละ 20 กิโลเมตร วันหนึ่งวิ่ง 4 ขาเท่ากับ 80 กิโลเมตร คูณ 30 วันเท่ากับเดือนละ 2,400 กิโลเมตร หาก คำนวณแบบ วิ่งไม่หยุด 2,400 คูณ 12 เดือนเท่ากับ 28,800 กิโลเมตรต่อปี ถ้าเอา 10 ปีคูณรถตู้จะวิ่งแค่ 288,000 กิโลเมตรเท่านั้น เรียกว่า คุ้มได้ไม่คุ้มเสีย อีกประเด็นร้อนมาที่นโยบายขึ้นค่าแท็กซี่ เรียกเสียงเฮไม่ทันข้ามคืน กลับถูกดับฝันเสียแล้ว ขณะ “แกร็บ” กำลังมีกฎหมายรับรอง

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะชูนโยบายใด ใครจะได้ประโยชน์ ท้ายที่สุด ต้องคำนึงถึงประชาชน โดยเฉพาะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตัวอย่างนโยบาย ขึ้นค่าแท็กซี่ ยังไม่ทันข้ามวัน ดับฝันเขาเสียแล้ว ดังนั้นต้องจับตากันว่า มาตรการอื่นจะไปถึงฝั่งฝันทำได้จริงหรือไม่ งานนี้ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3496 ระหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคม 2562