สงครามการค้าคู่ใหม่ “เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น” ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

14 ส.ค. 2562 | 06:12 น.

สงครามการค้าคู่ใหม่ “เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น”  ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

เราได้เห็น “มวยคู่เอก”  ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ตอบโต้ทางการค้าโดยการเก็บภาษีนำเข้าซี่งกันและกัน ซึ่งเกิดขึ้นมา 2 ปี แล้ว (ผมนับจากวันที่ 22 ม.ค.2560 ที่สหรัฐฯ เก็บภาษีแผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องซักผ้า) และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง แต่กรณีสงครามการค้าคู่ใหม่ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีนี้  ไม่ได้ตอบโต้โดยการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน แต่จะเป็นการตอบโต้แบบ “กีดกันการส่งออกโดยมาตรการที่มิใช่ภาษี”

 

เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของญี่ปุ่นรองจากจีนและสหรัฐฯ (ไทยอยู่อันดับที่ 6) ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่5ของเกาหลี รองจาก จีน สหรัฐฯ เวียดนาม และฮ่องกง (ไทยอยู่อันดับที่ 14)

ข้อพิพาททางการค้าของทั้งสองประเทศนั้น เริ่มจากญี่ปุ่นได้ออกมาตรการกีดกันทางการค้า 2 เรื่องคือ 1.เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2562 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัสดุเทคโนโลยีขั้นสูง 3 ชนิดที่ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ประกอบด้วยฟลูออริเนต  โพลีอิมิดส์ (Fluorinate Polyimide : ทำหน้าจอ) โฟโตเซนทิไซซิง (Photoresist) และ ไฮโดรเจน ฟลูออไรด์ (Hydrogen Fluoride) ญี่ปุ่นคือเจ้าของตลาดของโลกของ 3 สินค้านี้ และบริษัท Samsung และ SK Hynix ของเกาหลีใต้ก็นำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้ไปผลิตชิป (Chip) เพื่อนำไปผลิตหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและการประมวลผล ทั้งสองบริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดโลกถึง 33% (คิดจากรายได้)

สงครามการค้าคู่ใหม่ “เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น”  ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

สงครามการค้าคู่ใหม่ “เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น”  ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

 

และ 2.เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 รัฐบาลญี่ปุ่นนำรายชื่อเกาหลีใต้ออกจาก “บัญชีขาว  (Whitelist)” ซึ่งเป็นบัญชีประเทศคู่ค้าสำคัญที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trading Partners) ที่มีทั้งหมด 27 ประเทศ หรือกลุ่ม “Group A” เช่น สหรัฐฯ เยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส (ส่วนใหญ่เป็นประเทศยุโรป) เกาหลีใต้เป็นประเทศของเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ได้รับสิทธินี้ การยกเลิกจะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 ส.ค.2562 ขณะที่เกาหลีใต้ตอบโต้โดยการยกเลิกญี่ปุ่นออกจาก 29 ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า  

ผลวิเคราะห์ของผม จากการพิพาททางการค้าของทั้งสองประเทศเป็นดังนี้ 1.กระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีโลก กรณีการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบทั้ง 3 ประเภทนั้นญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า เพื่อความความมั่นคงของประเทศ การที่ผู้ส่งออกญี่ปุ่นซึ่งได้แก่บริษัท JSR, Showa Denko และ Shin-etsu จะส่งสินค้าประเภทนี้ออก จะต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานของญี่ปุ่นก่อนส่งออก ซึ่งจะต้องใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งกระทบต่อบริษัทเกาหลีใต้ทันที เพราะไม่ได้มีสต๊อกสินค้าเก็บเอาไว้ถึง 3 เดือน (บริษัท SK Nynix บอกว่ากระทบโดยตรง) และแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นก็มีน้อย (ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตหลัก)

 

 นอกจากกระทบต่อบริษัทเกาหลีแล้ว ทำให้จะกระทบกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั้งหมดของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ กลุ่มสินค้าของบริษัท Iphone, DELL, HP, Lenovo, Sony และ Panasonic เพราะใช้ชิปในการประมวลผลจากบริษัทของเกาหลีใต้ ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่า ผลกระทบต่อราคาสินค้ากลุ่มนี้และต้นทุนในการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมากน้อยแค่ไหนอย่างไร สำหรับบริษัทญี่ปุ่นนั้น แก้ปัญหาโดยการย้ายฐานการผลิตไปไต้หวันและอาเซียนแทน

 

2.กระทบต่อสินค้าส่งออกระหว่างสองประเทศและห่วงโซ่การผลิตของคู่ค้าอื่น กรณีการยกเลิกเกาหลีใต้จากบัญชีขาว อันนี้น่าจะขยายวงกว้างไปยังทุกสินค้าส่งออกของทั้งสองประเทศ เพราะเท่ากับว่าทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีต้องอยู่ในประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษซึ่งกันและกัน การส่งออกไปยังอีกฝ่ายจะถูกปฎิบัติเหมือนกับประเทศทั่วๆ ไป ปริมาณการส่งออกของทั้งสองประเทศจะลดลง รวมไปถึงการแบนสินค้าญี่ปุ่นของคนเกาหลี (เห็นได้ชัดจากรูปกราฟที่ 1 ว่า สัดส่วนการส่งออกของเกาหลีไปญี่ปุ่นมีทิศทางที่ลดลง) 

สงครามการค้าคู่ใหม่ “เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น”  ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

 

นักเศรษฐศาสตร์ธนาคาร DBS (Ma Tieying) บอกว่าถ้าญี่ปุ่นส่งออกไปเกาหลีลดลง 10% และนักท่องเที่ยวเกาหลีไปเที่ยวญี่ปุ่นลดลง 20% จะทำให้ GDP ญี่ปุ่นลดลงไป 0.15% ผมคิดว่าในทางกลับกัน เศรษฐกิจเกาหลีก็น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

 

3.ซ้ำเติมต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลายสถาบันระหว่างประเทศทั้ง IMF ปรับลดลงจาก 3.6% เหลือ 3.2% ในขณะที่ World Bank ปรับลดลงจาก 3% เหลือ 2.6%  และ OECD ปรับลดลงจาก 3.5% เหลือ 3.2% ซึ่งต่างคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกไปในทิศทางเดียวกัน (ลดลง) จากผลของ 3 สงคราม (การค้า เทคโนโลยีและค่าเงิน)  กรณีเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น น่าจะส่งผลไปในทิศทางที่ยิ่งทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของโลกปรับลดลงไปอีกมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ครับ