BEMยอมตรึง ทางด่วน10ปี แลกสัมปทาน

15 ส.ค. 2562 | 04:15 น.

BEM ชงข้อเสนอ ปรับค่าผ่านทางด่วนขึ้นทุก 10 ปีแบบคงที่ พร้อมสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 แก้จราจร บนเส้นทางเดิม แทนกทพ.3.1 หมื่นล้าน เพื่อยุติค่าโง่

กรณี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด  (มหาชน) หรือ BEM เจรจาขอยุติ ค่าโง่ทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วน-ปากเกร็ด กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ด้วยการลดมูลค่าข้อพิพาท จาก 137,517 ล้านบาท เหลือ 58,873 ล้านบาท แลกกับการขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี และปรับหลักเกณฑ์

ค่าผ่านทางใหม่ จากเดิม 5 ปีตามอัตราเงินเฟ้อ เป็น ปรับแบบคงที่ ทุก 10 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทางขณะเดียวกัน ยังเสนอแผนลงทุนทางด่วน ชั้นที่ 2
คล่อมทางด่วนเดิมจากงามวงศ์วาน-อโศก-พระราม 9 เพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของจราจรส่งให้กทพ.ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียเวลานับปีเพื่อหาผู้รับจ้างรายใหม่ ซึ่งมองว่าเป็นทางออกที่ดีเพราะไม่ต้องเสียเวลาขึ้นศาล อีกทั้งยังเดินหน้าทางธุรกิจต่อไป และที่สำคัญคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ดกทพ.) มีมติเห็นชอบแล้ว

BEMยอมตรึง  ทางด่วน10ปี  แลกสัมปทาน

แหล่งข่าวจาก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าหาก ได้รับการขยายสัมปทานทางด่วน 2 ต่อไปอีก 30 ปี ตามมติบอร์ดกทพ.เพื่อยุติข้อพิพาท และขยายสัมปทานทดแทนการจ่ายเงิน ล่าสุดได้จัดทำสูตรการปรับค่าผ่านทางใหม่ โดยปรับขึ้นทุก 10 ปีแบบคงที่จะถูกกว่าปรับตามเงินเฟ้อแบบสัญญาเดิมใน ทุก 5 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการใช้ทางให้กับประชาชน

BEMยอมตรึง  ทางด่วน10ปี  แลกสัมปทาน

ทั้งนี้ตัวอย่าง ประเภทรถ 4 ล้อ ทางด่วนขั้นที่ 1 และ เอบี ปี 2561 ค่าผ่านทาง 50 บาท ปี 2571 ปรับแบบคงที่จะอยู่ที่ 60 บาท หากปรับตามเงินเฟ้อราคาสูงถึง 70 บาท ปี 2581 ปรับแบบคงที่ 70 บาท ขณะปรับตามเงินเฟ้อ จะวิ่งไปที่ 90 บาท กรณีทางด่วนขั้นที่ 2 ซี ปี 2561 อัตรา 15 บาท ปี 2571 จาก 15 บาทหากปรับคงที่ราคาเท่าเดิม 15 บาท แต่หากปรับตามเงินเฟ้อ จะขยับไปที่ 25 บาท ปี 2581 ปรับแบบคงที่ ยังอยู่ที่ 15บาท ปรับตามเงินเฟ้อ 35 บาท เป็นต้น อีกตัวอย่าง ทางด่วนขั้นที่ 2 ดี ปี 2561 ราคา 25 บาท ปรับแบบคงที่ ปี 2571 ราคา 30 บาท

BEMยอมตรึง  ทางด่วน10ปี  แลกสัมปทาน

ขณะปรับตามเงินเฟ้อ ราคา 35 บาท ปี 2581 ปรับแบบคงที่ 35 บาท ปรับตามเงินเฟ้อ ราคา 45 บาท เป็นต้น นอกจากนี้หากประชาชนเดินทาง โดยใช้ทางด่วนเดิมและทางด่วนขั้นที่ 2 จะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม ซึ่งเป็นข้อเสนอที่บอร์ดกทพ.ยอมรับได้ เนื่องจากเป็นผลดีต่อกทพ.และประชาชนผู้ใช้ทางในระยะยาวและจะไม่เกิดปัญหา ข้อพิพาทในลักษณะนี้อีก ทั้งนี้ ทางด่วนที่กทพ.ให้สัมปทาน ประกอบด้วย ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอบีซีและดีทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ซี+) ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ขณะทางด่วนขั้นที่ 1 (บางนา-ดาวคะนอง-ดินแดง), ทางด่วนอาจณรงค์-เอกมัย-รามอินทรา, ทางด่วนบางนา-ชลบุรี และทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์

BEMยอมตรึง  ทางด่วน10ปี  แลกสัมปทาน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอลงทุนโครงการทางด่วนเพิ่มเติม และเห็นว่าผู้รับสัมปทานควรดำเนินการมากกว่าเปิดประมูลใหม่ โดย BEM จะลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เป็นทางยกระดับเหนือทางด่วนเดิมระยะทาง 17 กิโลเมตรจากงามวงศ์วานผ่านประชาชื่นบางซื่อ พหลโยธิน พญาไท มักกะสัน อโศก และพระราม 9 รวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งสร้างด่านเก็บเงินอีกเพิ่มขึ้น บริเวณประชาชื่น 14 ช่อง และอโศก 14 ช่อง ทางด่วนชั้นที่ 2 จะแยกรถวิ่งไกลกับวิ่งใกล้ออกจากกัน แก้ปัญหาจุดตัดคอขวดทำให้รถติด อีกทั้งสร้างทางข้าม ไม่ให้มีการตัดกระแสจราจร และขยายผิวจราจรบริเวณคลองประปา และมักกะสัน

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า "กรณีนี้จะช่วยให้กทพ.ไม่ต้องหาพื้นที่เวนคืนสร้างทางด่วนใหม่ ซึ่งจะเสียทั้งเวลาและงบประมาณ"

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แม้ว่า(บอร์ดกทพ.) จะเห็นชอบกับข้อเสนอของเอกชน แต่เนื่องจาก ยังมีการคัดค้าน และเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน
รัฐบาลใหม่ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คนใหม่เข้ามากำกับดูแล ดังนั้น จึงต้องพิจารณา เงื่อนไขดังกล่าวอีกครั้งโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าโง่ทางด่วนขึ้นมาโดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน คาดว่าจะทราบผลในไม่ช้านี้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,496 วันที่ 15 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

BEMยอมตรึง  ทางด่วน10ปี  แลกสัมปทาน