BEMเชื่อมั่นขยายสัมปทานยุติข้อพิพาททางออกที่ดีที่สุด

14 ส.ค. 2562 | 07:40 น.

“ปลิว”มั่นใจขยายสัมปทานทางด่วนยุติข้อพิพาทดีที่สุด วิน-วิน ทั้งรัฐ-ประชาชน BEM ได้รับการเยียวยา พร้อมร่วมมือเต็มที่

หลังจากเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชดเชยรายได้ ช่วงปี 2542-2543 ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) บริษัทลูกของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(มหาชน)(BEM)เนื่องจากได้รับผลกระทบจากทางแข่งขันกรณีก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาทซึ่งคดีนี้จะมีผลต่อเนื่องจนจบสัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดในปี 2569 ส่งผลให้วันที่ 2 ตุลาคม 2561 ครม.มีมติให้ กทพ.เจรจายุติข้อพิพาทกับ BEM เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐโดยเร็วที่สุดจนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 กทพ.และ BEMได้บรรลุข้อตกลงยุติข้อพิพาทโดยกทพ.จะแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเพื่อขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ออกไปอีก 30 ปี  โดย BEM ต้องยุติข้อพิพาททั้งหมดกว่า 1.37 แสนล้านบาท พร้อมทั้งลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ,แก้ปัญหาจุดตัดจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 2 อีก 31,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจราจร ปัจจุบันการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแล (มาตรา 43) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 และสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบ

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร BEM เปิดเผยว่า ข้อพิพาทที่มีกับกทพ.เป็นเรื่องเกิดมานานมากกว่า 25 ปี เกิดจากการที่ กทพ.ในอดีตทำผิดสัญญาทำให้บริษัทได้รับความเดือดร้อนที่ผ่านมาได้พยายามเจรจากันมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จทุกเรื่องเราชนะที่อนุญาโตตุลาการแล้วแต่กทพ.กลับไม่ยอมรับจนเรื่องไปถึงชั้นศาลปกครองดอกเบี้ยวิ่งไปทุกวัน

อย่างไรก็ตามครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดเพราะรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาซึ่งทางบริษัทก็พร้อมร่วมมือเต็มที่เชื่อว่าถ้าสู้คดีกันต่อก็มีโอกาสชนะสูงมากสุดท้ายBEMชนะก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อประเทศชาติรัฐเสียหายประชาชนเดือดร้อนแต่ถ้ายุติได้รัฐไม่เสียหายประชาชนได้ประโยชน์บริษัทได้รับการเยียวยาพอสมควรได้ทำธุรกิจต่อไปนั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย

“ผลการเจรจาครั้งนี้ถือว่า เป็นประโยชน์ต่อรัฐ ตลอดจน กทพ. เป็นอย่างมาก ถือว่าไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้น ส่วนประชาชนก็ได้ประโยชน์จากทางด่วนที่ดีขึ้น ค่าผ่านทางก็ไม่แพง ส่วนบริษัทก็ได้รับการชดเชยและได้ดำเนินธุรกิจที่มีความถนัดต่อไป ทุกฝ่ายจึงเชื่อมั่นว่าการขยายสัมปทานยุติข้อพิพาทครั้งนี้เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด”

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร กล่าวเสริมว่า ข้อพิพาทที่มีระหว่างบริษัท กับ กทพ. 17 คดี เกิดจาก 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องผลกระทบจากทางแข่งขัน และเรื่องการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาเรื่องทางแข่งขันมีผลกระทบกับสัญญาทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตั้งแต่ปี 2542 จนสิ้นสุดสัญญาในปี 2569 มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 เท่ากับ 78,908 ล้านบาท ขณะที่ข้อพิพาทการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาเรื่องนี้จะเกิดทุกๆ 5 ปี จนจบสัมปทานทั้ง 3 สัญญา มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 เท่ากับ 56,034 ล้านบาทเมื่อรวมกับเรื่องอื่นๆ มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 รวมเท่ากับ 137,517 ล้านบาท ซึ่งหาก กทพ.ต่อสู้ทุกคดีจนถึงที่สุด ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะสัญญาสัมปทานยังไม่จบ มีเงินต้น-ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกมาก

“ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ใช่ค่าโง่ เพราะไม่ได้เกิดจากการทำสัญญาที่ผิดพลาดหรือมีการทุจริตแต่อย่างใด สัญญาสัมปทานก็เป็นสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งเรื่องทางแข่งขันและการปรับค่าผ่านทางเป็นเรื่องสัญญาที่ตกลงกันไว้ รัฐอาจมีความจำเป็นและเหตุผลในการสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายไปรองรับเมืองที่จะขยายออกไป หรือเกรงว่าการขึ้นค่าผ่านทางจะกระทบประชาชน แต่เมื่อเกิดผลกระทบกับบริษัทแล้ว กทพ.ไม่ได้ชดเชยตามสัญญา ก็เกิดการผิดสัญญาขึ้นนำไปสู่การพิพาทในท้ายที่สุด กรณีเช่นนี้น่าจะถือเป็นค่าเบี้ยวมากกว่าค่าโง่ เพราะไม่มีใครโง่หรือฉลาดในเรื่องนี้”

นายพงษ์สฤษดิ์ เปิดเผยว่า ในการเจรจา กทพ.ขอนำข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้วมาเจรจาเท่านั้น โดยมูลค่าข้อพิพาททั้งหมดระหว่าง กทพ.กับ BEM ยุติกันที่ 58,873 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ต่ำกว่ามูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขัน (ณ สิ้นปี 2561) 78,908 ล้านบาท ต่ำกว่าเงินต้นของมูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขันจนจบสัมปทาน (ปี 2569) ประมาณ 100,000 ล้านบาท         โดยถือว่าเรื่องอื่นๆที่ฟ้องร้องอยู่และจะเกิดขึ้นในอนาคตจนจบสัมปทานบริษัทยุติทั้งหมด ทั้งที่ในปัจจุบันมีหลายคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เช่น คดีไม่ปรับค่าผ่านทาง ทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 2546 และคดีชดเชยรายได้นับจากวันเปิดใช้งานพื้นที่ส่วนแรกของทางด่วนขั้นที่ 2 

กทพ.จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ดออกไป สัญญาละ 30 ปีแทนการจ่ายเงิน ส่วนบริษัทมีหน้าที่ให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนเดิมทั้ง 3 สายทาง และแก้ไขปัญหาจราจรโดยลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) จากงามวงศ์วานถึงพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ก่อสร้างช่อง Bypass แก้จุดตัดจราจรบริเวณอโศก 2 จุด ขยายพื้นผิวจราจรบริเวณมักกะสันและพระราม 6 อีก 2 จุด รวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จะไม่เกินค่าผ่านทางการใช้ Double Deck เพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และบริษัทต้องรับผิดชอบความเสี่ยงในรายได้จากปริมาณการใช้รถที่ต้องลดลงจากนโยบายส่งเสริมระบบขนส่งทางราง     ของรัฐบาล โดยต้องแบ่งรายได้ให้ กทพ.ตามสัญญา แต่เนื่องจากการก่อสร้าง Double Deck ต้องรอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบก่อน กทพ.จึงแบ่งสัญญาเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เพื่อยุติ       ข้อพิพาท (ขยายสัญญาจนถึง ต.ค.2578) และส่วนที่ 2 การก่อสร้าง Double Deck (ขยายสัญญาออกไปจนครบ 30 ปี)     ซึ่งลงนามสัญญาเมื่อรายงาน EIA ผ่าน 

บริษัทเชื่อว่า กทพ.และกระทรวงคมนาคมคงจะเร่งสรุปเรื่องนี้ เสนอ ครม.เพราะเป็นประโยชน์สูงสุด และผ่านความเห็นชอบของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนแล้ว