ขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจกับการงัดข้อ เปลี่ยนตัว‘บอร์ด’

15 ส.ค. 2562 | 07:00 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3496 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.2562 โดย...พรานบุญ
 

ขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจ
กับการงัดข้อ
เปลี่ยนตัว‘บอร์ด’


          รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้ามาทำงานได้ร่วมเดือน หลังจัดวางตัวเลขาฯ ที่ปรึกษาฯ เสร็จสรรพบรรดารัฐมนตรีก็ติดเครื่องทำงาน 
          รัฐมนตรีท็อป! วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปนั่งเก้าอี้เสนาบดีปุ๊บเสนอตั้ง “ปลัดกระทรวง” ปั๊บ ฉับไวเหมือนมังกรเติ้งผู้พ่อ
          การเสนอตั้ง “จตุพร บุรุษพัฒน์” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แทน วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพย์ที่จะเกษียณอายุราชการลง และจะหันไปทำหน้าที่ “นายกสมาคมชาวศรีสะเกษ” แทน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คมนาคม ได้รับเสียงชื่นชมกึกก้องคลองประปา เชียวละเสนาบดีท็อป!
          พรานฯโดนสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากการหาเห็ดในป่า ไปเดินท่องป่าคอนกรีตย่านราชครู จด ตชด.ที่ล้อมกระทรวงทรัพย์ได้ยินแต่นกกา พญาเหยี่ยว ร้องชม
          เพราะ “จตุพร บุรุษพัฒน์” นั้นถือว่าเป็นข้าราชการนํ้าดี ย้ายมาจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำงานไปไม่นานก็ขึ้นเป็นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า เป็นอธิบดีมา 4 กรม ก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมีเวลาทำงานยาวโน่นปี 2567 เพราะเกิดวันที่ 3 พฤษภาคม 2507
          ขณะที่การเสนอต่ออายุราชการ รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อไปอีก 1 ปี ถูกฝาถูกตัวในห้วงที่ “อีไอเอ” รอคิวชี้ชะตาอยู่เพียบ

ขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจกับการงัดข้อ เปลี่ยนตัว‘บอร์ด’
         จู่ๆ นังบ่างโพล่งวาจาแบบเข็ดฟันว่า...ถ้าฝ่ายการเมืองจะโค่นปลัดกระทรวงทรัพย์ผู้มีอายุราชการยืนยาว จนอธิบดี-รองปลัดรอกันเหงือกแห้งให้ลงจากตำแหน่งหลังจากนี้ไป ก็คงทำได้เหมือนกรณี “โชติ ตราชู” อดีตปลัดกระทรวงทรัพย์ผู้ก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงอายุน้อยตั้งแต่ปี 2556 มีอายุราชการยาวนานถึงปี 2565 จึงต้องสลับฉากถูกโยกไปนั่งเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

          และถ้าจะหาผู้ที่จะมานั่งเป็นปลัดแทน “จตุพร”คงไม่ใช่ใคร น่าจะเป็นเลือดสิงห์ มท. “บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์” อดีตข้าราชการมหาดไทยที่โอนย้ายข้ามฟากมาอยู่กระทรวงทรัพย์ในปี 2548 ก่อนเป็นรองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รองอธิบดีกรมป่าไม้ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ในปี 2555 ด้วยวัย 49 ปีเศษ ก่อนโดนเด้งมาเป็นผู้ตรวจราชการ และสังเวยคำสั่งคสช. หวนกลับมานั่งรอตีขิมในตำแหน่งผู้ตรวจราชการฯเหมียนเดิม
          อีกหน่อยคงต้องเป็น สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงอดีตอธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล  อดีตเลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีดีกรีและรัศมีทำการในเรื่องนํ้าอย่างชํ่าชอง...ถึงเวลานั้นคงต้องรอดูทิศทางลมการเมือง
          แต่ขอบอกว่ายาก...ถึงยากมาก...นังบ่าง...เฉลย! เพราะจตุพรนั้นมิธรรมดา...เป็นคนพิเศษ ฝีมือพิเศษ!
          พ้นจากป่าคอนกรีตในกระทรวงทรัพย์ “อีเห็น” ขัดคอขึ้นมาว่า ระทึกในฤทัย ยิ่งกว่าใครในขณะนี้อยู่ที่กระทรวงคมนาคม ที่มีข้าราชการเกษียณหลายคน และรัฐมนตรีศักดิ์สยามหาทางเปลี่ยนตัว ประธาน-กรรมการ รัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับ เพื่อนำคนตัวเองที่วางใจมาทำงานให้บรรลุเป้า...
          “การเปลี่ยนแปลงกรรมการรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม 15 แห่ง มีตัวชี้วัดชัดเจน ซึ่งต้องพิจารณาว่าตั้งแต่ท่านเข้ามาทำงานถึงวันนี้ หากรัฐวิสาหกิจมีกำไรก็ไม่เป็นไร อยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าที่ใดขาดทุนก็ไม่ควรอยู่ ไปเถอะ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาทำงานแทน ผมต้องทำให้รวดเร็ว” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนกรานมาเช่นนั้น

ขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจกับการงัดข้อ เปลี่ยนตัว‘บอร์ด’
          เป็นการยืนกรานของ “เสนาบดีโอ๋” หลังจาก “บิ๊กกระทรวงการคลัง” ออกมาขวางว่า ในการตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่อไปนี้ต้องเดินตามกฎหมายใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม2562 ซึ่งต้องการกรองคนมิให้มีการตั้งใครมาเป็นบอร์ดเหมือนในอดีตที่มุ่งเน้นตอบแทนทางการเมืองจนเกิดวิกฤติศรัทธาและมีผู้มาแสวงหาประโยชน์ ไม่ว่า “ปตท.-การบินไทย-ท่าอากาศยานไทย-อสมท-กฟน.-กฟผ.-รฟม.-การทางพิเศษ ฯลฯ” ต้องเดินตามกรอบนี้
          “ยืนยันว่าเรื่องการแต่งตั้งบอร์ดไม่ได้ขัดแย้งกัน และที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกัน รวมถึงได้พูดคุยกับทางนายกรัฐมนตรีด้วย” พระยาเหยียบเมืองโอ๋ แห่งบุรีรัมย์สำทับ...
          อีเห็น ที่แอบด้อมมองอยู่ในสนามการเมืองและทำเนียบรัฐบาลมายาวนานบอกว่า สัญญาณเช่นนี้บอกว่า “รัฐมนตรีหูกวาง” รื้อบอร์ดรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง
          ขนาดว่าให้ “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม โทรศัพท์แจ้งประธานบอร์ด กรรมการรัฐวิสาหกิจใหญ่หลายต่อหลายคนให้ลาออก เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ดการบินไทย ได้ส่งสัญญาณขอลาออก เพราะเหตุเช่นนี้แล...พ่อพรานฯเอร้ย...
          นังบ่างจึงถึงบางอ้อ ร้องออกมาว่า มิน่าละ สมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ประธานบอร์ดการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือลาออกไปแล้ว

          ขณะที่ กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย  เรียกประชุมบอร์ดรถไฟ 2 รอบแล้ว เพื่อหารือข้อกฎหมาย เพราะบอร์ดได้รับแต่งตั้งจากคำสั่งมาตรา 44
          ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยังรอท่าทียืนยันจาก “ซอยรางนํ้า แอนด์ เนวินบุรี” ว่า จะเอางัยให้เป็นเสาคํ้ายันต่อไปหรือจะเปลี่ยนเป็นใคร...หุหุ
          ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย “เฮียลี้” ผู้นั่ง 3 บอร์ดในยุค “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ประสานมือ เป็นประธานบอร์ด รฟม. ประธานบอร์ด ปตท.-ประธานบอร์ดธนาคารกรุงไทย รอฟังทางลมว่าจะเอาอย่างไร ยังไม่ยื่นหนังสือลาออก
          เสี่ยเต้ย-สุรงค์ บูลกุล ผู้ถูกร้องขอให้มาเป็นประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กำลังมึนงง รอสัญญาณชัดๆ จากเลขหมายที่โทรมา  
          ทำไมต้องเปลี่ยนตัวประธาน-กรรมการรัฐวิสาหกิจ...นังบ่าง...ผู้กว้างขวางในโลกแห่งป่าดงพงไพร เชิดหน้าอรรถาธิบายต่อว่า มาดูนี่ บริษัทการบินไทยฯ มีรายได้ 199,500 ล้านบาท รายจ่าย 208,900 ล้านบาท ขาดทุนสะสมอยู่ 2.8 หมื่นล้านบาท “บอร์ดอย่างน้อย 3 รอ ทนไม่ไหวจะลาออก อยู่รอมร่อ”
          แผนงานจะต้องจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ปลดระวางเครื่องบินเก่า 19 ลำ จะทำธุรกิจ E-Commerce บนเครื่อง เริ่มเดือนพฤศจิกายน2562

ขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจกับการงัดข้อ เปลี่ยนตัว‘บอร์ด’
          รฟม.ผู้กว้างขวางนักเลงคุมในถิ่นเรื่องรถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน มีรายได้ปีละ 14,006  ล้านบาท กำไร 2,304 ล้านบาท มีโครงการรอประมูลเพียบ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์  120,459 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท   และจะนำที่ดินเวนคืนมากกว่า 1,400 ไร่ มาพัฒนาสร้างรายได้
          รถไฟ แม้จะขาดทุนปีละ 17,500 ล้านบาท แต่มีโครงการรอประมูลเพียบ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 179,412 ล้านบาท เหลืออีก 12 สัญญารอประมูลกว่า 110,000 ล้านบาท รถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) วงเงิน 40,000 ล้านบาท 
          อีเห็นตาลุกวาวบอกนังบ่างให้รีบสรุป... เฉพาะรถไฟช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 10,202 ล้านบาท เฉพาะรถไฟช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 7,469 ล้านบาท นี่ไม่นับรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 8 เส้นทาง 1,851 กม. รอประมูลอยู่กว่า 340,129 ล้านบาท
          รัฐมนตรีคนไหนไม่ส่งคนไปดูแลก็บ้าแล้ว....นังบ่างสรุปแบบทิ้งหมัดเข้ามุม!