ชาวบ้าน “จ๊าก” รับไม่ได้สายสีเขียว 65 บาทตลอดสายแพงเกิ้น!

15 ส.ค. 2562 | 07:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,496 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.2562 โดย... พริกกะเหรี่ยง
 

ชาวบ้าน “จ๊าก” รับไม่ได้สายสีเขียว 65 บาทตลอดสายแพงเกิ้น! 


          จากเทรดวอร์มาเทควอร์ ลามมาถึงสงครามค่าเงิน ทำเอาตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ค่าเงินหยวนที่ตกต่ำสุดในรอบ 11 ปี เห็นชัดว่า “มังกรกำลังพ่นไฟ” กระทบทั้งการค้า การลงทุนและท่องเที่ยว เมื่อค่าเงินหยวนอ่อน คนจีนออกเที่ยวเมืองนอกก็ต้องแพงขึ้น เขาก็ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะนำเงินหยวนออกเที่ยวต่างประเทศก็แลกได้น้อยลงเหลือ 7.4 หยวนต่อดอลลาร์ ก็ต้องใช้เงินมากขึ้น ในการเดินทางแต่ละทริป 

          เรื่องนี้นายกสมาคมแอตต้า “วิชิต ประกอบโกศล” ถึงกับนั่งไม่ติด เพราะในฐานะที่ทำธุรกิจทัวร์จีนเป็นหลัก จึงออกโรงจี้ให้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวฯ ใช้ยาแรงอัดฉีดท่องเที่ยวต่อเนื่อง ทั้งเสนอฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย 1 ปี ขยายวีซ่าออนอาร์ไรวัล หรือ VOA ออกไปอีกจากที่จะสิ้นสุดเดือนตุลาคมนี้ เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะหดหายไปหมด เพราะเริ่มออกอาการจากที่จีนเคยมาเมืองไทยเดือนละ 1 ล้านคน ก็เหลือราว 8 แสนคน สถานการณ์แบบนี้ไม่น่าไว้วางใจ 

          ท่องเที่ยวไทยเจอทั้งปัจจัยภายในและภายนอกกระทบหนัก หากไม่ “โด๊ป” ยาแรงไว้ก่อน ห่วงว่าจะกู่ไม่กลับ และยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจหากนักท่องเที่ยวหาย โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดหลักเดิมพันปีละ 10 ล้านคน อีกทั้งยังต้องลุ้นอีกว่า มาตรการต่อไป รัฐบาลจีนจะสั่งห้ามไม่ให้คนจีนออกเที่ยวต่างประเทศหรือไม่ หรือมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาบังคับทางอ้อม เพราะเริ่มเห็นอาการจากที่ รัฐบาลจีนหันมาส่งเสริมให้คนจีนเดินทางเที่ยวในประเทศจีนด้วยกันเอง ตามโมเดล “เมดอินไชน่า” รวมถึงการขนเงินออกนอกประเทศมาซื้อสินทรัพย์อย่าง คอนโดมิเนียมในเมืองไทยก็จะกระทบตามมาเป็นลูกโซ่

          เปิดหวูดไปแล้ว “บีทีเอส” สถานีห้าแยกลาดพร้าว บรรเทาความเดือดร้อนคนกรุงไปได้มาก เพราะแยกนี้ติดสาหัสสากรรจ์มาก แถมยังมีสะพานเชื่อมเข้าห้างเซ็นทรัล ให้เดินชิลๆตัวปลิวไปช็อปปิ้ง ไม่ต้องตากแดด ตากฝน เป็นสีทนได้กันมานาน และคนที่ต้องมารอต่อรถเมล์ แท็กซี่หน้าหมอชิตคงสะดวกขึ้น จากที่ต้องเข้าแถวยาวเหยียดรอรถเมล์ เจอพี่วินโก่งราคา แท็กซี่ใจร้ายปฏิเสธผู้โดยสาร แถมต้องเดินมาครึ่งถนนเสี่ยงตายเรียกรถ คงลดปัญหาเหล่านี้ไปได้แยะและเป็นมานานจนกระทั่งทุกวันนี้ ยังไม่เห็นมีใครเข้ามาแก้ไขจริงจัง 

          กลับมาส่องที่ขบวนรถ “บีทีเอส” สายสีเขียวส่วนต่อขยาย (หมอชิต-เซ็นทรัล) เปิดเพิ่ม 1 สถานี ให้นั่งฟรียาวไปถึงปลายปี โดยจะวิ่งสลับขบวนระหว่างหมอชิตกับเซ็นทรัล ช่วงเวลาเร่งด่วนตั้งแต่ 7-9 โมงเช้าและ 5 โมงเย็นถึงทุ่ม เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ คือถ้าขบวนไหนหยุดที่หมอชิต ขบวนถัดไปก็ต่อถึงเซ็นทรัล ส่วนนอกเวลาเร่งด่วน วันเสาร์-อาทิตย์ จะให้บริการยาวถึงเซ็นทรัลลาดพร้าว และตามไทม์ไลน์ เดือนธันวาคมนี้จะเปิดบริการเพิ่มอีก 4 สถานี คือสถานีพหลโยธิน 24-รัชโยธิน - เสนานิคม และสถานีม.เกษตรศาสตร์ ยิ่งเป็นข่าวดีของคนกรุง 

          ส่วนเรื่องค่าโดยสาร บิ๊กกทม. “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ย้ำหลายรอบว่า 65 บาทตลอดสาย คือจะเพิ่มอีกแค่ 6 บาท ปกติจากหมอชิต-อ่อนนุช คิด 44 บาท จากนั้นเป็นส่วนต่อขยายคิด 15 บาท เท่ากับ 59 บาท เป็นราคา ณ ปัจจุบันที่เก็บกันอยู่ โดยราคาใหม่เป็นราคาที่คุยกันมาหลายยกระหว่าง “กทม.” กับ “บีทีเอสซี” คู่สัญญา ที่จะกดให้เพิ่มอีก 6 บาท ซึ่งเท่ากับว่าราคาใหม่จะเคาะกันอยู่ที่เพดานไม่เกิน 65 บาทตลอดทั้งสาย 

 


          โดยคิดจากสถานีเคหะ-สมุทรปราการถึงคูคตระยะทาง 60 กิโลเมตร หากใช้อัตราปัจจุบันค่าโดยสารจะอยู่ที่ 150-160 บาท ซึ่งถือแพงมาก ไม่เอื้อแก่คนใช้บริการ จึงหั่นราคาให้ลดลงอย่างน้อย 93 บาท หรือเหลือเพดานแค่ 65 บาท  แต่ก็ใช่ว่าถูก!! เพราะถ้าหากเดินทางไป-กลับตกวันละ 130 บาทถือว่ายังแพงมาก ขนาดยังไม่รวมค่าวินมอเตอร์ไซค์ออกมาปากซอย ต่อรถเมล์มาสถานีบีทีเอส สิ้นเดือนจะเหลือเงินในกระเป๋าสักกี่บาท ถ้ากทม. อยากให้คนใช้บริการมากๆ ก็ต้องลดราคาลงมาอีก ถึงจะคุ้มค่ากับงบลงทุนที่สร้าง และฟันธงเลยว่าราคานี้ยังไม่ตอบโจทย์ ยังแพงและแพงมาก

          แต่ที่ยัง โอละพ่อ! ก็ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 15 บาท ตลอดสาย ไอเดียที่มาจากบิ๊กหูกวางของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” แต่ตอนหลังกลับลำออกมาแก้ต่างว่า ไม่ได้พูดคำว่า 15 บาท แค่อยากเห็นราคาต่ำสุด และต้องไม่กระทบเรื่องสัญญาสัมปทาน คงห่วงค่าโง่ที่จะตามมาหลอนในภายหลัง นโยบายนี้ “ศักดิ์สยาม” ระบุว่าเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเว้ากันซื่อๆ ก็หาคะแนนเสียงนั่นแหละ  

          ผ่านมาหลายวันล่าสุด “บิ๊กตู่” เพิ่งออกมาให้ความเห็น บอกว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาอุดหนุน เรียกว่าดับฝันพรรคภูมิใจไทยกันกลางวันแสก ๆ และ “ลุงตู่” ยังบอกอีกว่า ถ้าถูกอย่างนั้นรถโดยสารสาธารณะก็เจ๊งหมด ว่าเข้าไปนั่น แสดงว่าโครงการนี้คงแท้งตั้งแต่ยังไม่ทันทำคลอด
          อันที่จริงเรื่องนี้ใช่ว่าจะ “อิมพอสสิเบิล” มีหลายวิธีที่ทำได้ เช่น การเข็นเอาเส้นทางรถไฟฟ้าที่รัฐบาลลงทุนเอง 100% มาดำเนินการ โดยเอาสายที่ว่าจ้างเอกชนที่ BTSC และ BEM มาบริหารการเดินรถ โดยคิดเป็นค่าจ้างบริหาร เช่น สายสีม่วงและสีเขียวส่วนต่อขยาย หรือแอร์พอร์ตลิงค์ มาหั่นราคา ส่วนที่เป็นการให้สัมปทาน คงเข้าไปแตะต้องยาก เพราะอาจจะผิดสัญญาและต้องใช้เงินอุดหนุนมาก ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

          ส่วนราคาไม่จำเป็นต้องตายตัวที่ 15 บาท แต่ต้องหาค่าเฉลี่ยที่ถูกลงและเป็นราคาที่จูงใจชาวบ้าน เช่น โปรฯแรงช่วงสั้นๆ ลด แลก แจก แถม หรือขายพ่วงกับสิทธิผลประโยชน์อื่นๆ ดึงพันธมิตรเข้ามาร่วม ทำกิมมิกทางการตลาด ฯลฯ หรือจะลองใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษี ก็น่าทำได้มีหลากหลายวิธีแต่จะใช้วิธีการไหน? ก็ต้องให้ผู้รู้เข้ามาช่วยคิด

          แต่ที่อยากให้ตระหนักก็คือ การลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ควรจะมาจากหลักคิด 3 ประการคือ 1.ลดปัญหาจราจร ด้วยการส่งเสริมให้คนมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น 2. ลดปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 และ 3. เพื่อให้การลงทุนสร้างรถไฟฟ้าคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป ดังนั้นนักการเมืองอย่าคิดแต่จะหาคะแนนเสียงอย่างเดียว และควรให้ผู้รู้จริงมาช่วยคิด ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกและดีก็ไม่มีเช่นกัน เอาแบบเดินสายกลาง 

          สมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับ อินฟอร์มา มาร์เก็ต เชิญผู้สนใจร่วมงานประชุมสภาอุตสาหกรรมโรงแรมไทย ครั้งที่ 21 พร้อมสัมมนาหัวข้อการตลาดดิจิทัลสำหรับธุรกิจบริการ กลยุทธ์สำคัญในปี 2020 ในงานฟู้ดแอนด์โฮเทล ไทยแลนด์ 2019 ช่วงวันที่ 4-7 กันยายน ณ ศูนย์ไบเทค บางนา และยังมีสัมมนาย่อยที่น่าสนใจ อาทิ เคล็ดลับการเพิ่มยอดขาย ช่องทางการจองตรง, การขายในยุคดิจิทัล, กลยุทธ์พิชิตกลุ่มนักท่องเที่ยวเอฟไอที, เปิดโรงแรมง่ายกว่าที่คุณคิด โดยกูรูในวงการ Radisson Group และ Independent Hotel สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่สมาคมโรงแรมไทย หรือ อี-เมล์ [email protected]