หุ้นไทยปิดภาคเช้าดิ่ง 20.03 จุด ต่ำสุดรอบ 7 เดือน

15 ส.ค. 2562 | 05:51 น.

หุ้นไทยปิดภาคเช้าลบ 20.03 จุด ทำจุดต่ำสุดรอบ 7 เดือน หลังนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจถดถอย และแบงก์พาเหรดลดดอกเบี้ยเงินกู้

 

ตลาดหุ้นไทยช่วงเช้าวันที่ 15 สิงหาคม 2562 เคลื่อนไหวในแดนลบ ลดลงต่ำสุด 28.90 จุด อยู่ที่ 1,590.55 จุด ตามตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก หลังจากรับปัจจัยกดดันหนักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนกังวลสงครามการค้ายืดเยื้อ หวั่นทำเศรษฐกิจถดถอย และกลุ่มธนาคารพาณิชย์อ่อนแอ หลังประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,599.42 จุด ลดลง 20.03 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.24% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 59,220.53 ล้านบาท ขณะที่ ระหว่างวันดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,606.85 จุด

 

หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 

CPALL ปิดที่ 81.75 บาท ลดลง 1.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,671.28 ล้านบาท

SCB ปิดที่ 120.50 บาท ลดลง 3.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,102.37 ล้านบาท

KBANK ปิดที่ 156.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,928.45 ล้านบาท

INTUCH ปิดที่ 60.75 บาท ลดลง 3.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,913.71 ล้านบาท

PTT ปิดที่ 42.50 บาท ลดลง 0.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,677.47 ล้านบาท

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยในช่วงเช้า ลดลงต่ำสุดที่ 1,590.55 จุด ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน  โดยปัจจัยกดดันมาจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ไตรมาส 2 ออกมาอ่อนแอ เพราะตั้งแต่ต้นปี 2562 ปรับตัวลดลง 11% ทำให้นักวิเคราะห์ต้องปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของแต่ละบริษัทลดลงต่อเนื่อง รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติระยะสั้นยังเป็นลบ 

 

ขณะเดียวกันช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยไม่ได้ปรับขึ้นจากกระแสเงินทุนต่างชาติ แต่มาจากการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในหลายประเทศ ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดอื่น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลง

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักลงทุนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย จึงเข้าไปลงทุนในตลาดพันธบัตรและทองคำเพิ่มขึ้น ถึงแม้ผลตอบแทนจะต่ำ แต่มีความปลอดภัยมากกว่า

 

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง คาดว่าจะคล้ายกับปี 2555 ที่ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นทำนิวไฮ เพราะเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงิน และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาบ้าง โดยคาดว่ากรอบดัชนีจะอยู่ที่ 1,580-1,670 จุด และยังคงดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,750 จุด

 

ขณะที่ การประกาศปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ทำให้นักวิเคราะห์ปรับลดการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ เพราะคาดว่าส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะปรับลดลง และอาจกระทบต่อกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงด้วย 3-5% และต่อเนื่องถึงปีหน้าที่จะรับผลกระทบเต็มปี ซึ่งอาจจะมีการปรับลดประมาณการกำไรธนาคารพาณิชย์ รวมถึงกำไร บจ.ในปี 2562