Inverted Yield Curve กับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย

15 ส.ค. 2562 | 14:51 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (Inverted yield curve) ที่เกิดขึ้นกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีและอายุ 2 ปีเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี สร้างความกังวลต่อความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา Inverted Yield Curve เป็นเครื่องชี้ที่สามารถทำนายการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ค่อนข้างแม่นยำ 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1960 ถึงปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรแบบวกกลับสามารถทำนายการเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ถูกต้องถึง 7 ใน 8 ครั้งติดต่อกัน โดยผิดพลาดเพียงครั้งเดียวในช่วงปีค.ศ. 1966 เท่านั้น 

ข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะเกิดขึ้นประมาณ 1-2 ปีหลังจากที่ Inverted Yield curve เกิดขึ้น

การเกิด Inverted Yield Curve 2 ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปีค.ศ. 2000 และค.ศ. 2006 โดยเป็นการเกิดขึ้นก่อนการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 8 และ17 เดือนตามลำดับ อันตอกย้ำถึงความสามารถในการทำนายการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอดีตที่ค่อนข้างแม่นยำ สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันผลการศึกษาของเฟดบ่งชี้ว่ามีโอกาสมากกว่า 30% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดภาวะถดถอยในช่วง 1 ปีข้างหน้า 
 

นอกจากนี้ ความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวและพันธบัตรระยะสั้นที่ติดลบมากขึ้นเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มโอกาสของการเกิดภาวะถดถอย โดยส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนระยะยาวและสั้นที่ติดลบเกินกว่า 0.8% บ่งชี้ถึงโอกาสมากกว่า 50% ที่จะเกิดภาวะถดถอยในช่วง 1 ปีข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่มีแนวโน้มสูงที่จะยกระดับความรุนแรง บวกกับสถานการณ์ที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากข้อตกลงในวันที่ 31 ต.ค. 62 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผ่านผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงซึ่งชะลอลงเพิ่มเติม ซึ่งคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

Inverted Yield Curve กับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย

การเกิดเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแบบวกกลับ (Inverted Yield curve) และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงที่ผ่านมา โดยเส้นกราฟที่ต่ำกว่า 0 หมายถึงช่วงที่เกิด Inverted yield curve

Inverted Yield Curve กับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย

สัญญาณเตือนจากตลาดพันธบัตรถึงโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยในระยะข้างหน้า อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในช่วงที่เหลือของปีมากกว่า 1 ครั้ง หลังจากที่ได้ปรับลดไปแล้ว 1 ครั้งในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ภายใต้มุมมองที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงและคงลากยาวออกไปอย่างน้อยในปีหน้า คงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ตลาดการเงินมองถึงโอกาสที่เฟดมีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ รวมทั้งมีโอกาสที่เฟดอาจจะยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีหน้า โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ มากกว่าที่ตลาดคาด คงสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องเช่นกัน