รัฐแจกกระจาย 3 แสนล้าน  หวังกระตุ้นจีดีพีเกิน 3% 

16 ส.ค. 2562 | 06:44 น.

   ครม.เศรษฐกิจ อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน  ทั้งคนเที่ยว คนมีรายได้น้อย และเกษตรกร  คาดมีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 3 แสนล้านบาท ทำจีดีพีปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 3% 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อพิจารณาในคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง มั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 316,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบกลางไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐราว 207,000 ล้านบาท ที่เหลือ เงินกองทุนต่างๆ 5 หมื่นล้านบาท จะดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3%  โดยแพ็คเกจ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 2.มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนประเทศ และ 3. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย 

รัฐแจกกระจาย 3 แสนล้าน  หวังกระตุ้นจีดีพีเกิน 3% 

เรื่องแรก ช่วยเหลือเกษตรกร 13 จังหวัด จำนวน 9 แสน 9 พันราย ที่เป็นหนี้กับ ธกส. จะลดดอกเบี้ย 1 ปี ขณะที่เกษตรกรรายย่อยจะได้รับสินเชื่อฉุกเฉิน 5 หมื่นบาทต่อราย ฟรีดอกเบี้ยปีแรก วงเงินทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูซ่อมแซมเสียหายจากภัยแล้ง วงเงินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท รวมวงเงิน 5,000 ล้าน และขยายเวลาชำระเงินกู้พิเศษ มาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตข้าวนาปี 62/63 ปัจจุบันมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกือบ 3 ล้านราย 

ส่วนมาตรการกระตุ้นการลงทุน บริโภคในประเทศ สนับสนุนให้ประชาชนท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้ ข้ามจังหวัด โดยให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอพริเคชั่นของธนาคารกรุงไทย เป้าหมาย 10 ล้านคน ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินจากการท่องเที่ยวผ่านอีวอลเลท 1,000 บาท สามารถใช้จ่ายผ่านแอพฯ ได้ทันที และเมื่อใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ซื้อสินค้าท้องถิ่น ทานอาหาร พักโรงแรม ต่างๆ จำนวน 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินคืน 15% เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการยกเว้นตรวจตราวีซ่า นักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย 

รัฐแจกกระจาย 3 แสนล้าน  หวังกระตุ้นจีดีพีเกิน 3% 

ส่วนมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ หักค่าใช้จ่ายจากการซื้อเครื่องจักรจาการลงทุน สามารถหักภาษี 1.5 เท่า ภายใน 5 ปี //ให้สินเชื่อผ่อนปรน กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะเวลากู้ 7 ปี ด้านสถาบันการเงินรัฐ ให้เร่งปล่อยสินเชื่อ ให้เอสเอ็มอี กรุงไทย และออมสิน รวม 1 แสนล้านบาท ออมสินและธอส.ปล่อยสินเชื่อบ้าน 52,000 ล้านบาท และให้บสย.ค้ำประกันสินเชื่อโดยลดค่าธรรมเนียมให้เอสเอ็มอีในช่วง 2 ปีแรก 

ส่วนมาตรการดูแลค่าครองชีพ ผ่านกลไกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเป็น 500 บาทต่อราย จากเดิมผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท ได้รับเงินข่วยเหลือ 300 บาทต่อเดือน และผู้มีรายได้ 3 หมื่นถึง 1 แสนบาท ได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาท ต่อเดือน

ขณะที่ผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท และให้เงินดูแลเด็กแรกเกิด เพิ่มอีกเดือนละ 300 บาท โดยการช่วยเหลือเงินผ่านบัตรฯ มีระยะเวลา 2 เดือน คือ สิงหาคมกับกันยายนนี้เท่านั้น 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ได้รับทราบสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจ ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2562 มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ 2.8% โดยมีสาเหตุจาก เศรษฐกิจโลกที่พบสัญญาณถดถอยตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ครม.เศรษฐกิจได้วางเป้าหมายว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% และปี 2563 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5% 

รัฐแจกกระจาย 3 แสนล้าน  หวังกระตุ้นจีดีพีเกิน 3% 

สำหรับแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562-2563 จะประกอบด้วย 7 ด้าน คือ 1.การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก 2.การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องแก่กลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 3.การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและรายได้สุทธิของเกษตร

4.การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและเม็ดเงินภาครัฐ โดยในปี 2562 มีงบประมาณประจำปีรวม 90.7% เป็นงบประจำ 99% และงบลงทุน 60% ด้านปี 2563 ประกอบด้วยงบประมาณประจำปีรวม 92.3% เป็นงบประจำ 98% และงบลงทุน 70% สำหรับด้านที่ 5 คือ การขับเคลื่อนการส่งออก โดยมีเป้าหมายในครึ่งปีหลังปีนี้จะต้องขยายตัวได้ 3% และการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ขณะที่ 6.การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว โดยกำหนดเป้าหมายปีนี้มีนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคน และปีหน้าที่ 41.8 ล้านคน และ 7.การสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจ เพื่อมากำกับดูแลการบริหารเศรษฐกิจทั้งหมดด้วย