เอกซเรย์ 5 ปี1,000กิโล ทางคู่แสนล้านพร้อมเปิดหวูด

17 ส.ค. 2562 | 23:20 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2562 | 07:03 น.

“นับตั้งแต่ปี2494 ที่มีการเปลี่ยนฐานะเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย ขณะนั้นระบบรางเพียง 3,300 กิโลเมตร ปัจจุบันในปี 2562 มีระบบรางประมาณเป็น 4,000 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นเพียง 700 กิโลเมตร จาก 68 ปี ดังนั้นกล่าวโดยสรุปประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากระบบรางในสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งมาเริ่มตื่นตัวในช่วง 4-5 ปีหลัง ถือได้ว่ามาถูกทาง”

นี่คือเสียงสะท้อน ภาพรวมโครงสร้างระบบรางที่ผ่านมา ของนายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บนเวทีสัมมนา ภายใต้หัวข้อ ความพร้อมเชิงโครงสร้างพื้นฐานต่อการรองรับแผนการคมนาคมระบบรางในอนาคต อีกทั้งยังประกาศความพร้อมจัดงาน “INTERMAT ASEAN และงาน CONCRETE ASIA” ที่จะเปิดตัวช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

 

ทั้งนี้การพลิกโฉมรถไฟทางคู่มูลค่ากว่าแสนล้านบาท มีเส้นทางไหนที่พร้อมเปิดให้บริการ เริ่มตั้งแต่ รถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา- คลองสิบเก้า- แก่งคอยโครงสร้างเกือบแล้วเสร็จสมบูรณ์เตรียมเปิดให้บริการภายในเดือนกันยายนนี้เช่นเดียวกับ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น

ส่วนปี 2564 เส้นทางสายใต้จะแล้วเสร็จตลอดเส้นทางตั้งแต่นครปฐม-ชุมพร ตามด้วย ลพบุรี-ปากนํ้าโพ ซึ่งเป็นเส้นทางสายเหนือ จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี2565ส่งผลให้อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีทางรถไฟ 25% รวมเส้นทางกว่า 1,000 กิโลเมตรเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ขณะเดียวกันยังมีรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่ นครพนม สายเหนือ-อีสานตามลำดับ ระยะทางประมาณ 1,500 กิโลเมตรอยู่ระหว่างออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นเส้นทางแรกระยะทาง 252 กิโลเมตรขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่เฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว และไฮไลต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบ พื้นที่ให้กับซีพีและพันธมิตร คาดว่าเริ่มก่อสร้างได้ไม่เกินต้นปี 2563

เอกซเรย์ 5 ปี1,000กิโล  ทางคู่แสนล้านพร้อมเปิดหวูด

แม้ระบบรางในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะถูกพัฒนาอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่แต่โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนไทยหันมาใช้ระบบรางโดยเฉพาะการเดินทางไปยังต่างจังหวัดทั้งนี้ความสะดวกสบายคือหัวใจสำคัญสิ่งที่ดำเนินการได้ทันทีคือให้ความรู้ ประชา สัมพันธ์ รวมทั้งติดป้ายบอกทางด้วยความเข้าใจง่ายชัดเจน พร้อมกันนี้ในบางสถานีที่ยังไม่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้ 

 

“เราจะต้องประสานการขนส่งต่อเนื่องให้กับท้องถิ่นนั้นๆ เข้ามาเติม เพื่อเต็มให้ผู้ใช้บริการเกิดความประทับใจในแง่ของความเร็ว ขณะนี้ระบบรางยังเป็นรองในระบบถนน แต่ในอนาคตเมื่อเส้นทางต่างๆ ทยอยแล้วเสร็จ คาดว่าระยะเวลาน่าจะแข่งขันกันได้ โดยจุดแข็งของเราเด่นในเรื่องความปลอดภัยและเสน่ห์ระหว่างทาง” 

อย่างไรก็ตาม ระบบรางจะเติบโตได้ ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมรถไฟ อาทิ การจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟในประเทศตลอดจนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดความคุ้มค่า

นับจากนี้ไม่เกิน 5 ปีจะเกิดความคล่องตัวในการเดินทาง ขนส่งสินค้า..เชื่อมโยงทั่วทุกภูมิภาค และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจากระบบราง 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3497 ระหว่างวันที่ 18 - 21 สิงหาคม 2562