แบงก์ชาติทั่วโลกเข้ากระแส ‘ดอกเบี้ยขาลง’ รับมือเศรษฐกิจชะลอตัว

17 ส.ค. 2562 | 08:40 น.

ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าสู่วงจรปรับลดดอกเบี้ยรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว จับตาประธานเฟดฯส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในการประชุมผู้ว่าฯธนาคารกลางนานาชาติที่ไวโอมิง สหรัฐฯ ปลายสัปดาห์หน้า คาดเดือนหน้าเฟดลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 0.25-0.50%

 

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีมาจนถึงขณะนี้ ธนาคารกลางมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก กำลังปรับลดดอกเบี้ยลงมาเพื่อรับมือกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ท่ามกลางบรรยากาศความหวาดหวั่นเกี่ยวกับแนวโน้ม ‘เศรษฐกิจถดถอย’ (recession) ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในระยะ 18-22 เดือนนับจากนี้ คาดการณ์จากภาวะ inverted yield curve หรือการที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะสั้นอยู่ในระดับสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี (ตั้งแต่ปี 2550) สะท้อนถึงสภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้นักลงทุนพากันหวั่นวิตกและหันเข้าหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า ประกอบกับสัญญาณเชิงลบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีนเดือนกรกฎาคมที่ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 17 ปี (4.8%) และยอดค้าปลีกของจีนที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 4 เดือน (7.6%) ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ก็กำลังหดตัวลง เช่นเดียวกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน (กลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร) ที่ปรับลดลงในบริบทที่สงครามการค้าระหว่างระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นปัจจัยลบที่เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม   

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แทบจะถูกกดดันรายวันจากประธานาธิบดีทรัมป์ให้เร่งลดดอกเบี้ย

ในช่วงเร็วๆนี้ นอกจากธนาคารกลางของอินเดีย ไทย และนิวซีแลนด์ ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างเหนือความคาดหมายแล้ว  ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ธนาคารกลางเม็กซิโกได้ร่วมกระแสแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี (นับจากปี 2557) ขณะเดียวกับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงถูกกดดันรายวันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากที่เฟดลดดอกเบี้ย fed fund rates ครั้งแรกลงแล้ว 0.25% เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา  ตลาดกำลังจับตาการประชุมของผู้ว่าการธนาคารกลางนานาชาติ ในหัวข้อ Challenges for Monetary Policy (ความท้าทายในนโยบายด้านการเงิน) ในวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้ที่เมืองแจ๊คสัน โฮล มลรัฐไวโอมิง ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด จะส่งสัญญาณใดๆเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปบ้าง ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดหมายว่า ในการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดครั้งต่อไปในเดือนกันยายนนี้ เฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25-0.50%    

 

เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ส สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ รายงานว่า โดยทั่วไปแล้วธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยลงหรือซื้อพันธบัตรมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการปล่อยกู้เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุน แต่บ่อยครั้งที่ในหลายประเทศ ที่ประสบภาวะทั้งเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนั้นแสนต่ำเรี่ยดินอยู่แล้ว ผู้กำหนดนโยบายจึงไม่เหลือช่องว่างมากนักในการลดดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการปล่อยกู้  ผลที่ตามมาคือการลดดอกเบี้ยลงในสภาวะเช่นนี้จึงเป็นการมุ่งทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆอ่อนตัวลงมา ซึ่งจะให้ประโยชน์ต่อภาคการส่งออกมากกว่า แต่สุดท้ายก็จะช่วยให้สินค้าภายในประเทศมีราคาสูงขึ้น  

 

+โกลด์แมน แซคส์ ลดคาดการณ์จีดีพี 4 เสือเอเชีย

ด้านโกลด์แมน แซคส์ ประเมินสถานการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวและสงครามการค้าที่ยืดเยื้อจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศ “เสือเอเชีย” หรือ Asian Tigers ซึ่งได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน เติบโตน้อยลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้  แอนดริว ทิลตัน นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน ซึ่งจัดดทำรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของ 4 เสือเอเชียระบุว่า การที่ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีธุรกิจการค้า-การส่งออกเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจมาโดยตลอดทำให้เมื่อถึงจุดที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ก็จะได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย แม้จะมีบางประเทศได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐฯเปิดศึกการค้ากับจีน ทำให้มีการโยกย้ายห่วงโซ่การผลิตมายังประเทศเหล่านั้น แต่ส่วนใหญ่ประเทศที่ได้ประโยชน์จะเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับจีน เช่น เวียดนาม มากกว่าบรรดาประเทศ 4 เสือเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกงเจอผลกระทบทั้งจากปัจจัยภายนอกและการเมืองภายใน

รายงานของโกลด์แมนฯ คาดหมายว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของฮ่องกงจะหดตัวลง 0.5% ในไตรมาส 3ของปีนี้ (เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561) ส่วนจีดีพีตลอดทั้งปีนี้ของฮ่องกง คาดว่าจะโตเพียง 0.2% เนื่องจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยภายในของฮ่องกงเอง  ส่วนสิงคโปร์ที่ปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงจากเดิม 1.1% เหลือเพียง 0.4%  ขณะที่เกาหลีใต้ ถูกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ลงเหลือ 1.9% จากเดิมที่คาดไว้ 2.2%  โกลด์แมนคาดว่าในเดือนตุลาคมนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่ลดดอกเบี้ยลงมาแล้วครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในเดือนตุลาคมนี้ ด้านไต้หวัน คาดว่าจีดีพีปี 2562 จะโตที่ 2.3% ลดจากเดิมที่คาดไว้ 2.4% เนื่องจากแม้จะได้รับผลกระทบทางลบจากสงครามการค้าแต่ก็อาจจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากการที่สหรัฐฯอาจหันมาซื้อสินค้าบางรายการจากไต้หวันเพิ่มมากขึ้นทดแทนการซื้อจากจีนที่ลดลง