มัดรวมมาตรการรัฐ-เอกชน แห่ช่วยSMEs

23 ส.ค. 2562 | 03:35 น.

คงต้องยอมรับกันแล้วว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในอาการที่ไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าใดนัก ขณะที่เศรษฐกิจโลกเองก็กำลังถดถอย คำพูดดังกล่าวนี้ออกมาจากปากผู้ชายที่ชื่อ “สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์”รองนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งเดินทางไปมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงอุตสาห กรรมครั้งล่าสุด  โดยเน้นยํ้าด้วยว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรกคือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ถึงขนาดกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวง อุตฯเร่งเข้าไปให้การสนับสนุน

จะว่าโชคดีในวิกฤติของเอสเอ็มอีก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยนัก  เพราะในยามที่เป็นแบบนี้ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ได้เห็นความหวังจากทั้งหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนที่ต่างระดมยุทธวิธีเข้ามาช่วยเหลือ  ทั้งนี้  “ฐานเศรษฐกิจ” จึงได้มัดรวมมาตรการต่างๆเหล่านั้นมาไว้ด้วยกัน  

 

อุตฯเร่งออกมาตรการช่วย

เริ่มต้นกันที่ นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งระบุว่า ได้มอบหมายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาห กรรมเป้าหมาย (S-Curve) สร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตร  ซึ่งจะเน้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตรหลักในแต่ละพื้นที่ พร้อมผลักดันสู่เกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 โดยมุ่งสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและมาตรการทางการเงินต่างๆ รวมถึงการยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 การสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการนำวัตถุดิบที่ใช้แล้วกลับมาแปรรูปสร้างคุณค่าใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การสนับ สนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีเอสเอ็มอีได้รับอนุมัติสินเชื่อจากกองทุนแล้ว รวมกว่า 10,500 ราย เป็นวงเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และยังมีคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนกว่า 580 ราย วงเงิน 3.5 พันล้านบาท โดยจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติให้ขยายเพิ่มวงเงินสินเชื่อกองทุนฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับเอสเอ็มอี-คนตัวเล็ก จำนวน 3.5 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย จำนวน 5,000 ราย ต่อไป รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่ Big Brother ภายใต้โครงการ
Innospace (Thailand) จำนวน 700 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่ม Startup รวมถึงเพิ่มการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีด้านการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เป้าหมายจำนวน 10,000 ราย  

และมาตรการสุดท้าย คือ มาตรการรับมือวิกฤติภัยแล้ง ด้วยกลไกประชารัฐ ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ในการสร้างอุปกรณ์และภาชนะในการกักเก็บนํ้าในระดับครัวเรือนและระดับชุมชนในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมาย 10,000 ครัวเรือนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ขอสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม จาก 4% เหลือ 1% เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้  โดยการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งการพักชำระหนี้และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่ประสบภัยแล้ง โดยทั้ง 3 มาตรการนี้ มีกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 99 วัน ทั้งนี้ในปี 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเอสเอ็มอี จำนวน 50,000 ราย โดยเน้นการยกระดับเกษตรอุตสาห กรรม Startup และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อเปลี่ยน ผ่านอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลและการตลาดนำการ
ส่งเสริม

นายพงชาญ  สำเภาเงิน  รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า  ธพว. ได้มีการนำเสนอเพื่อขอเงินกองทุนเพิ่มประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีคนตัวเล็กรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท  อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% ระยะเวลาในการผ่อนชำระ 7 ปี  ซึ่งคาดว่าหากได้รับการอนุมัติเงินกองทุน จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการเพื่อปล่อยสินเชื่อได้หมดภายในสิ้นปีนี้ 

มัดรวมมาตรการรัฐ-เอกชน  แห่ช่วยSMEs

ส่วนของ ธพว. เองมีวงเงินสินเชื่อของธนาคารอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการโลคัลอีโคโนมีประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท  อัตราดอกเบี้ย 3% ในช่วง 3 ปีสำหรับนิติบุคคล หากเป็นบุคคลธรรมดาอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5% อีกทั้งยังมีสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีขนาดกลางประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.875% ในช่วง 3 ปีแรก  


 

ลดดอกเบี้ยMOR/MRR

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25%  เริ่มจากธนาคารกสิกรไทยที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25%, ธนาคารกรุงไทยได้ปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% ต่อปี, ธนาคารกรุงเทพปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ MOR และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ MRR ลง 0.25% ,ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.12% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลง 0.125% มาอยู่ที่ 6.745% โดยภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้แล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ของธนาคารไทยพาณิชย์ ลดลงมาอยู่ที่ 6.745% และอัตราดอกเบี้ย MLR ยืนอยู่ที่ 6.025% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่ต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์  

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% ทำให้ดอกเบี้ย MOR ของทีเอ็มบีอยู่ที่ 7.425% และ MRR ของทีเอ็มบี อยู่ที่ 7.150% และธนาคารออมสิน ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลง 0.13% เหลือ 6.87% โดยทุกธนาคารต่างให้เหตุผลว่าเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและแบ่งเบาภาระของลูกค้ารายย่อย เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้าใช้บริการอยู่เป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่หลายแห่งดังกล่าวส่งผลประโยชน์โดยตรงผ่านการลดต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ตํ่ากว่า 1.7 ล้านราย ซึ่งทอนเป็นต้นทุนทางการเงินสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีเหล่านั้นที่ลดลงประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดนอกเหนือไปจากการออกมาตรการ  และการลดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินก็คือ การเข้าถึงของเอสเอ็มอี ที่น่จะต้องระดมสมอง  และบูรณาการร่วมกัน เพราะเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกมาทุกยุคทุกสมัย

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3498 วันที่ 22-24 สิงหาคม 2562

มัดรวมมาตรการรัฐ-เอกชน  แห่ช่วยSMEs