ธปท.ลุ้นจีดีพีครึ่งปีหลังโต3.4%

22 ส.ค. 2562 | 04:40 น.

ธปท. รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท เข็นจีดีพีไม่ถึง 0.5-0.6% เหตุมีแค่มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เห็นผลทันที ที่เหลือเป็นสินเชื่อ ลุ้นจีดีพีครึ่งปีหลังขยายตัว 3.4% ดันจีดีพีทั้งปีเกิน 3% ได้

               นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานสัมนาการค้าประจำปี 2562ว่า เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา 3.16 แสนล้านบาท วงเงินอาจจะดูค่อนข้างเยอะ แต่มาตรการส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสินเชื่อ ซึ่งไม่ช่วยเรื่องเศรษฐกิจมากนัก จึงไม่น่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.5-0.6% ได้ตามที่ภาครัฐประเมิน เนื่องจากมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องของดีมานด์ ซึ่งจะเห็นผ่านมาตรการ Cash Transfer หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนมาตรการท่องเที่ยวยังต้องดูรายละเอียดวิธีปฎิบัติก่อน

ธปท.ลุ้นจีดีพีครึ่งปีหลังโต3.4%

               ดังนั้นภายในเดือนกันยายน ธปท.จะมีการประเมินตัวเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปพิจารณาด้วย จากประมาณเศรษฐกิจไทยในรอบเดือนมิถุนายน ประเมินตัวเลขไตรมาสที่ 3 และ 4 จะขยายตัว 3.7-3.8% คาดว่า ไม่น่าจะได้ตามกรอบ และยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวเกิน 3% หรือไม่ หากดูตัวเลขไตรมาส 1 และ 2 ออกมา หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยโตเกิน 3% ในครึ่งปีหลังจะต้องขยายตัวเกิน 3.4% ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเห็น แต่จะต้องรอตัวเลขส่งออก โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รอบล่าสุดคาดว่า การส่งออกยังคงติดลบต่อเนื่อง และมองว่าไตรมาสที่ 4 จะกลับมาเป็นบวกได้ ต้องรอประเมินตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ตกลงมาเร็วมาก จากเดิมธปท.ประเมินอยู่ที่ 4.2% ถือว่าต่ำสุดในหน่วยงานภาครัฐ แต่ตัวเลขสภาพัฒน์ฯ ออกมา และอาการเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนแย่กว่าพฤษภาคม และไตรมาส 2 แย่กว่าไตรมาสแรก ซึ่งหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยเกิน 3% ครึ่งปีหลังจะต้องโตเกิน 3% เยอะมาก อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาคาดว่าจะช่วยเรื่องจีดีพีและเห็นผลเร็วน่าจะเป็นเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใส่เม็ดเงินเพื่อการบริโภค แต่จะโตได้เกิน 3% คงต้องมาดูตัวเลขส่งออกด้วย

               สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่า จากดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันเงินบาทถือแข็งค่าเกือบที่สุดของโลก รองจากรัสเซีย ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนมองว่า ไทยเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven)และเมื่อการเมืองชัดเจนขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางทั่วโลกผ่อนคลายนโยบายการเงิน ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งในเดือนมิถุนายนมีเงินไหลเข้าสุทธิ และการส่งออกทองคำ ที่เป็นปัจจัยเข้ามากระแทกค่าเงิน ซึ่งเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าได้ ยกเว้นค่าเงินดอลลาร์เปลี่ยนทิศทาง

ส่วนมาตรการดูแลค่าเงินบาทนั้น สามารถทำได้หลายแนวทาง ทั้งการลดดอกเบี้ย แต่การลดดอกเบี้ยที่ผ่านมา ธปท.ไม่ได้หวังผลต่อค่าเงินบาท แต่ต้องการช่วยดูแลเศรษฐกิจ และการเข้าไปแทรกแซงโดยซื้อเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้ทุนสำรองไทยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงเกือบที่สุดของโลก ทำให้มีความเสี่ยงที่อาจถูกจับตาจากสหรัฐฯได้ว่า หวังเข้าไปแซกแทรกค่าเงิน เพื่อได้เปรียบทางการค้า ซึ่งอาจเปิดช่องให้สหรัฐฯใช้นโยบายภาษีมาใช้กับไทยได้ จึงต้องดูแลใกล้ชิดและระมัดระวัง เพราะจะยิ่งมีผลกระทบต่อภาคส่งออก หรือธุรกิจที่ต้องการไปลงทุนในสหรัฐได้

               นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ทำผ่านการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ผ่านแผนแม่บทการเปิดเสรีทางการเงิน โดยเปิดเสรีให้คนไทยสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้อย่างเสรี ซึ่งด้านนี้ ถือเป็น End Game ของธปท.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

               ธปท.ลุ้นจีดีพีครึ่งปีหลังโต3.4%