ดันโรงไฟฟ้าชุมชนแก้จน ท้องถิ่นหุ้น30%เกษตรกรขายเชื้อเพลิงเพิ่มรายได้

23 ส.ค. 2562 | 07:30 น.

เปิดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน ดึงวิสาหกิจชุมชนร่วมทุน 30% สร้างรายได้ให้ฐานราก 2 เด้ง ขายวัตถุดิบและเงินปันผล มีกองทุนอนุรักษ์พลังงานช่วยลงทุน UAC ขานรับ ปูพรม 19 โครงการ ลงทุน 3 พันล้าน แบกภาระเงินลงทุนช่วงแรกให้ก่อน

การประกาศนโยบายพลังงานของนายสินธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการให้พลังงานเข้าถึงทุกคน และสร้างรายได้เพิ่มให้กับฐานราก โดยให้แต่ละชุมชนที่มีศักยภาพจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นมา ซึ่งล่าสุดทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบหรือโมเดลของโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นมาว่าจะเป็นรูปแบบใด ที่คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนกันยายน 2562 เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นชอบในเชิงนโยบายต่อไป

 

เปิดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน

สำหรับรูปแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น เบื้องต้น จะมุ่งไปที่การใช้เชื้อเพลิงพืชพลังงานเป็นหลัก ทั้งการปลูกพืชโตเร็วนำมาทำเป็นไม้สับ ป้อนเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล และการปลูกหญ้าเนเปียร์ ที่จะนำมาหมักร่วมกับมูลสัตว์ เพื่อให้เกิดเป็นก๊าซชีวภาพนำไปผลิตไฟฟ้า รวมถึงการตั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม เป็นต้น โดยรูปแบบการดำเนินงานนั้น มีทั้งในลักษณะที่เกษตรกร ปลูกพืชพลังงานป้อนวัตถุดิบเข้าโรงไฟฟ้า และการเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าโดยตรงในสัดส่วน 30% ภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเอกชนถือหุ้น 70% ซึ่งโมเดลดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาคเอกชน ที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้125 โครงการรวมกำลังการผลิต 125-187.5 เมกะวัตต์กระจายอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นโครงการที่ค้างท่อมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้พพ.ไปเร่งรัดจัดทำรูปแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งในส่วนที่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ตามเป้าหมายที่ระบุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนว่าจะดำเนินการได้ในรูปแบบใด ซึ่งรูปแบบที่พพ.เสนอมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเบื้องต้นนั้น ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในแต่ละชุมชน นั้นมีความเหมาะสมเนื่องจากเทคโนโลยีมีราคาถูกลง ไม่ยุ่งยาก แต่ปัญหาขึ้นอยู่กับว่าชุมชนจะนำเงินจากส่วนไหนมาร่วมลงทุนกับเอกชน

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล จะส่งเสริมชุมชนที่มีศักยภาพที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และการส่งเสริมปลูกพืชโตเร็ว นำมาทำเป็นไม้สับป้อนเข้าโรงไฟฟ้า ซึ่งลักษณะนี้จะทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายวัตถุดิบ ขณะที่อีกส่วนจะมีรายได้จากการเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าด้วย เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ที่จะส่งเสริมให้ชุมชนปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อนำมาหมักร่วมกับมูลสัตว์ ได้ก๊าซนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งชุมชนจะมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์และรายได้จากการเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าเช่นกัน

ดันโรงไฟฟ้าชุมชนแก้จน  ท้องถิ่นหุ้น30%เกษตรกรขายเชื้อเพลิงเพิ่มรายได้

 

ชุมชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

ทั้งนี้ ระยะแรกโรงไฟฟ้าชุมชน จะเน้นไปที่การจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบก่อน เพื่อรอให้การบริหารจัดการส่งไฟฟ้าในรูปแบบสมาร์ทกริดเกิดประสิทธิผล และหลังจากนั้น จะเป็นการผลิตไฟฟ้าใช้เองในชุมชน และส่วนที่เหลือเกินความต้องการของชุมชนแล้วค่อยขายเข้าระบบ ซึ่งจะทำให้ชุมชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาตํ่ากว่าที่ซื้อไฟฟ้าจากระบบที่ขายอยู่ราว 3.7 บาทต่อหน่วย ส่วนการนำเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาช่วยสนับสนุนชุมชนนั้น จะต้องมีการแก้ไขระเบียบการใช้เงินกองทุนใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช้เป็นรูปของเงิน แต่จะเป็นการสนับสนุนด้านเครื่องจักร อุปกรณ์ของโรงไฟฟ้า เป็นต้น


 

ยูเอซีขานรับปูพรม19แห่ง

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพราะที่ผ่านมามีโครงการนำร่องไปแล้ว ที่บริษัทได้ดำเนินอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จากการใช้หญ้าเนเปียร์และข้าวโพดนำมาร่วมหมักกับมูลสัตว์ เพื่อให้ก๊าซนำไปผลิตไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาทสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดและหญ้าเนเปียร์ส่งให้กับโครงการ 15 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ หากนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนมีความชัดเจน ทางยูเอซี พร้อมที่จะร่วมกับวิสาหกิจชุมชนได้ทันที เนื่องจากบริษัทมีแผนที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าราว 19 แห่ง เป็นภาคเหนือ 10 แห่ง(รวมที่แม่แตง) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 แห่ง รวมกำลังผลิตทั้งหมด 30 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 3 พันล้านบาท โดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่น ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ เสร็จแล้ว แต่ยังขายไฟฟ้าไม่ได้ หากใช้โมเดลนี้จะทำให้วิสาหกิจชุมชนมีเงินจากการขายวัตถุดิบมาลงทุนร่วมกับเอกชนได้ ซึ่งรูปแบบการลงทุนนั้น ในระยะแรกอาจจะยังไม่ต้องใส่เงินลงมา เพราะต้องรอรายได้จากการขายวัตถุดิบเข้ามาก่อน เมื่อชุมชนมีรายได้เข้ามาแล้ว ก็นำเงินในส่วนนี้จ่ายเข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้นได้

 

ขายไฟ4.24บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจะให้ประสบความสำเร็จภาครัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม อย่างน้อยควรเป็นราคาเท่ากับ FIT ของไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ที่ภาครัฐกำหนดไว้ 4.24บาท/หน่วย (8 ปี แรก) เพื่อดึงดูดให้เอกชนมาลงทุน และสามารถดำเนินกิจการร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความรู้เรื่องพืชพลังงาน ตลอดจนการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อดำเนินการปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว และการจัดจำหน่ายให้โครงการโรงไฟฟ้า รวมถึงด้านกฎหมายผังเมือง การทำความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ และการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งให้ความสำคัญโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นลำดับแรกๆ ในการเชื่อมต่อระบบสายส่งไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3498 วันที่ 22-24 สิงหาคม 2562

ดันโรงไฟฟ้าชุมชนแก้จน  ท้องถิ่นหุ้น30%เกษตรกรขายเชื้อเพลิงเพิ่มรายได้