4 ปัจจัยเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว (1)

24 ส.ค. 2562 | 11:43 น.

คอลัมน์บิสิเนส แบ็กสเตจ โดย ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

 

ศูนย์ธุรกิจครอบครัวของ Deloitte ได้ทำการสำรวจผู้บริหารธุรกิจครอบครัวจำนวน 791 รายจาก 58 ประเทศทั่วโลก ระหว่างวันที่ 14 มกราคม-20 มีนาคม ค.ศ. 2019 โดยสำรวจว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวสามารถสร้างความสมดุลระหว่างแนวทางระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างไร ในบริบทเฉพาะของครอบครัว ตลาดและพลวัตทางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของธุรกิจครอบครัว ผลการสำรวจพบว่ามีปัจจัย 4 ด้านที่พึ่งพาซึ่งกันและกันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถของธุรกิจครอบครัวในการบรรลุเป้าหมายและการคงอยู่ของกิจการ ได้แก่ ความเป็นเจ้าของ การกำกับดูแล การสืบทอดและกลยุทธ์ โดยสำรวจผ่านมุมมองเจ้าของกิจการดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ความเป็นเจ้าของ (Ownership) ธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในครอบครัวเมื่อกิจการเติบโตขึ้น แม้ความเป็นเจ้าของอาจลดน้อยลงในรุ่นหลังๆ ซึ่งความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นในหมู่สมาชิกในครอบครัวและกับบุคคลภายนอก เกี่ยวกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของธุรกิจและผู้นำอาจพบว่าตนเองไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดย 2 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจคาดหวังว่า บริษัทของตนจะถูกส่งต่อให้คนในครอบครัว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วครอบครัวมีแนวโน้มที่จะขายหรือปิดกิจการน้อยลงและมีแนวโน้มที่จะทนต่อความยากลำบากทางการเงินที่เพิ่มขึ้นได้ แต่การขายบางส่วนของธุรกิจเพื่อความสำเร็จทางการเงินที่มากขึ้นในอนาคตของแต่ละบริษัทเกิดจากปัญหาที่แตกต่างกัน

โดยผู้ถูกสำรวจ 34% ยินดีที่จะลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของบริษัทเพื่อผลักดันความสำเร็จทางการเงินในระยะยาว แม้บางครั้งธุรกิจครอบครัวจะมีกระแสเงินสดภายในที่ช่วยให้ไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนภายนอก แต่ส่วนใหญ่จะต้องมองหาทางเลือกในการจัดหาเงินทุนเนื่องจากนวัตกรรมและวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์รวดเร็วขึ้น การขาดแคลนเงินทุนอาจจำกัดความสามารถของธุรกิจในการคิดค้นนวัตกรรมและก้าวให้ทันกับการแข่งขัน ดังนั้นการขายหุ้นส่วนน้อยออกไปเป็นวิธีหนึ่งในการนำเงินทุนภายนอกเข้ามาเพื่อส่งเสริมการเติบโตและสร้างนวัตกรรมได้ ทั้งนี้วิธีหนึ่งในการลดความเสี่ยงของบริษัทคือการขายหุ้นส่วนน้อยให้กับธุรกิจครอบครัวอื่น หรือสำนักงานครอบครัวซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดึงดูดเงินทุน โดยข้อดีของการมีส่วนร่วมกับครอบครัวอื่นคือครอบครัวมักมีประสบการณ์และภูมิหลังที่คล้ายคลึงกัน

4 ปัจจัยเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว (1)

2. การกำกับดูแล (Governance) ธุรกิจครอบครัวควรมุ่งเน้นโครงสร้างการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของธุรกิจและภายในครอบครัว การกำกับดูแลครอบครัวหมายถึงโครงสร้างและกระบวนการที่ครอบครัวใช้เพื่อจัดระเบียบตัวเองและเป็นแนวทางของความสัมพันธ์กับบริษัท ซึ่งโครงสร้างการกำกับดูแลครอบครัวที่ดีและนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมสามารถช่วยกำหนดขอบเขตและสร้างความชัดเจนได้ ขณะที่โครงสร้างการกำกับดูแลที่เป็นทางการสามารถ สร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับวัฒนธรรม ค่านิยมและวิสัยทัศน์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหากสมาชิกในครอบครัวคาดหวังความเห็นพ้องกับทิศทางของบริษัท และอาจรวมถึงความกลมเกลียวที่มากขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบ ครัว มุ่งเน้นธุรกิจมากขึ้นและการเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่นง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การกำกับดูแลครอบครัวมีประสิทธิภาพ ก็ควรสะท้อนถึงวัฒนธรรม พลวัตและวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละครอบครัวด้วย ขณะที่ในส่วนของการกำกับดูแลกิจการ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจระบุว่าสมาชิกส่วนใหญ่ในคณะกรรมการบริษัท ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว หรือเป็นกรรมการอิสระจากภายนอกนั่นเอง ขณะที่ประมาณ 1 ใน 4 กล่าวว่าคณะกรรมการบริษัทส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในครอบครัว แม้เป็นการยากที่จะหาองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับธุรกิจครอบครัว แต่ครอบครัวที่ไม่ได้เปิดรับคนนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริษัทอาจพิจารณาว่าจะได้ประโยชน์จากอิทธิพลภายนอกอย่างไร

4 ปัจจัยเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว (1)

เนื่องจากกรรมการอิสระสามารถสร้างประสบการณ์ที่มีค่าและหลากหลายให้กับธุรกิจครอบครัวได้ สามารถช่วยให้มุมมองภายนอกที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายการวางแผนสืบทอดกิจการ การจัดการความเสี่ยงและนโยบายค่าตอบแทน รวมถึงการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้บริหารที่เป็นสมาชิกในครอบครัวและผู้บริหารคนนอก และที่สำคัญที่สุดคือกรรมการอิสระสามารถช่วยให้ครอบครัวที่เป็นเจ้าของมุ่งเน้นที่การบริหารธุรกิจแทนการมุ่งความเป็นเจ้าของกิจการเพียงอย่างเดียว 

 อ่านต่อฉบับหน้า 

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3499 ระหว่างวันที่ 25 - 28 สิงหาคม 2562