จี้รัฐเร่งเบิกจ่าย กระตุ้นลงทุนประคองจีดีพี

27 ส.ค. 2562 | 11:15 น.

 

เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง ทีเอ็มบีมอง มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวไม่เต็็มศักยภาพ เหตุคนไทยใช้จ่ายเฉลี่ย 5 พันบาท ค่ายกรุงศรีฯ จี้รัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน มองทั้งปีจีดีพีโตเพียง 2.9% 

ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกที่ยังกดดันบรรยากาศการลงทุน การค้าและเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทย ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2562 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์)ประกาศออกมาขยายตัวเพียง 2.3% ชะลอลงจาก 2.8% ในไตรมาสแรก ขณะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งปีเป็น 2.8-3.2%(ค่ากลาง 3.0%)

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics กล่าวว่า มองว่า มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวอาจมีคนใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมา คนไทยใช้เม็ดเงินในการท่องเที่ยวเฉลี่ย 5,000 บาทต่อคน ดังนั้นอาจจะมีเพียง 6 หมื่นล้านบาทแทนที่จะมีคนใช้ 10 ล้านคนเฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งรอบนี้จะช่วยกระตุ้นจีดีพีถึงสิ้นปีนี้ราว 0.3% ซึ่งทีเอ็มบีมองเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะเติบโต 2.7% จากเดิม 3.0% แต่หากไม่มีมาตรการกระตุ้นจีดีพีอาจขยายตัว 2.5%

 

จี้รัฐเร่งเบิกจ่าย  กระตุ้นลงทุนประคองจีดีพี

นริศ สถาผลเดชา

 

หากมีเงินเหลือจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว รัฐบาลสามารถนำเงินที่เหลือเน้นส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองและคนกลุ่มใหม่หรืออาจจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สามารถหักหรือลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น ส่วนมาตรการอื่นยังไม่เห็นผลในสิ้นปีนี้ เพราะเป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาว

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ภายใน จากการที่รัฐบาลพยายามทยอยออกมาตรการกระตุ้น โดยคาดว่า เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโต 2.9% ซึ่งความเสี่ยงมาจากภายนอกประเทศ  ท่ามกลางภาคส่งออกที่อ่อนแรงต่อเนื่องและภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ขณะเดียวกันการค้าโลกที่ชะลอย่อมกระทบทุกประเทศและมีโอกาสที่จะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีก ขึ้นกับความรุนแรงและความยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดี จากธนาคารกลางแต่ละประเทศที่จะปรับลดดอกเบี้ยลง ขณะที่กระทรวงการคลังแต่ละประเทศต่างทยอยออกมาตรการประคองเศรษฐกิจด้วย

ภาครัฐควรลำดับความสำคัญและต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่อนุมัติสะสมไว้ ให้เดินหน้าเป็นรูปธรรม ขณะที่มาตรการกระตุ้นที่ทยอยออกมาจะประคองการบริโภคภาคเอกชนได้พอควร อย่างน้อยน่าจะกระตุ้นการบริโภคได้1.2%”

 

นายโฮ กี้ คอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ของภูมิภาคอาเซียน+3(จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้)หรือ AMRO กล่าวว่า อยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขจีดีพีของไทย เพราะภาคส่งออกมีส่วนช่วยเศรษฐกิจขยายตัวลดลง จึงต้องพึ่งอุปสงค์ในประเทศ ซึ่ง AMRO เห็นด้วยกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งแพ็กเกจที่น่าจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ 0.2-0.3% มูลค่าของแพ็กเกจประมาณ 1.8% ของจีดีพี ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประกอบกับมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงและมีมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (Macro prudential)

การส่งออกในภูมิภาคชะลอตัวหลักๆ มาจากผลกระทบทางการค้า โดยประเทศในอาเซียนแม้จะปรับลดลงบ้างแต่กลุ่มประเทศ CLMV ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,499 วันที่ 25-28 สิงหาคม 2562

จี้รัฐเร่งเบิกจ่าย  กระตุ้นลงทุนประคองจีดีพี