ฟื้นกำลังซื้อคนชั้นกลาง เครื่องจักรหลักเศรษฐกิจ

24 ส.ค. 2562 | 04:49 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3499 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-28 ส.ค.2562

 

ฟื้นกำลังซื้อคนชั้นกลาง

เครื่องจักรหลักเศรษฐกิจ

 

          ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2562 ระบบธนาคารพาณิชย์ มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ มีเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความท้าทายในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ลดลง ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อย ส่วนคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมยังทรงตัวอยู่ที่ 2.95% โดยยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 4.506 แสนล้านบาท ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือสินเชื่อที่มีการค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเกิน 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 2.56% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.74% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

          จากข้อมูลดังกล่าวแม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมจะมีความมั่นคง แต่แนวโน้มสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือสินเชื่อที่ผิดนัดชำระ 2 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าธนาคารพาณิชย์อาจต้องกันสำรองเพิ่มขึ้น เพราะตามหลักเกณฑ์ของธปท.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์กันสำรองสินเชื่อปกติในอัตรา 1% สินเชื่อ ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ ในอัตรา 2% และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป สำรองในอัตรา 100%

          นอกจากนี้หากพิจารณาจากแนวโน้มสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษยังอยู่ในระดับสูงในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.89% พาณิชย์ 2.68% และบริการ 2.53% สะท้อนถึงข้อจำกัดด้านความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค คุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ด้อยลงจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา โดยสินเชื่อรถยนต์มียอดสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษสูงถึง 7.3% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลก็มีเพิ่มขึ้นจาก 2.26% เป็น 2.31% เช่นเดียวกับสินเชื่อบัตรเครดิต ที่เพิ่มขึ้นจาก 1.80% ในไตรมาส 1 มาอยู่ที่ 1.91% ในไตรมาส 2

          การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษในส่วนของสินเชื่อรายย่อย สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่เป็นกำลังหลักของระบบเศรษฐกิจเริ่มมีปัญหา แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธปท.จะออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อออกมาหลายมาตรการเพื่อลดการก่อหนี้ครัวเรือน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะการออกมาตรการควบคุมการปล่อยกู้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือ LTV ที่ถูกวิพากษ์ว่าเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน ดังนั้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวธปท.และธนาคารพาณิชย์ ควรตั้งโต๊ะประชุมเพื่อหาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสินเชื่ออุปโภคบริโภคให้กับลูกค้าชั้นดีอีกทาง เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และลดภาระหนี้ให้กับคนชั้นกลางแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอีกด้วย