ธปท.หวั่นหนี้เสียพุ่งหลังยอดค้างชำระ1-2เดือนทะยานยกแผง

27 ส.ค. 2562 | 07:05 น.

ธปท.ห่วงตัวเลขสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) ทะยาน 2.74% จาก 2.56% หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท จาก 3.96 แสนล้านบาท เป็น 4.18 แสนล้านบาท เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว คนผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม แถมแบงก์เข้มจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพ สวนทางเอ็นพีแอลทรงตัว 2.95% ยอดคงค้าง 4.5 แสนล้านบาท

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) หรือหนี้ที่ค้างชำระ 1-2 เดือน ในไตรมาส 2 ของระบบธนาคารพาณิชย์มีทิศทางเพิ่มขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ โดยตัวเลขอยู่ที่ 2.74% เพิ่มขึ้นจาก 2.56% ในไตรมาส 1 หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นสุทธิราว 2.2 หมื่นล้านบาทจาก 3.96 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 4.18 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังและจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพที่เข้มงวดขึ้น 

“ลูกค้าที่ค้างชำระ 1 เดือนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ธนาคารระมัดระวังและติดตามใกล้ชิด จะถูกจัดชั้นหนี้เข้าไปอยู่ใน SM แม้จะยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ก็ตาม แต่เป็น
กลุ่มที่มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีโอกาสไหลไปสู่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม”

ทั้งนี้หากดูตัวเลข SM ณ ไตรมาส 2 ปรับเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินเชื่อเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 โดยสินเชื่อธุรกิจ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.35% มาอยู่ที่ 2.53% สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จาก 1.71% มาอยู่ที่ 1.97% สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จาก 3.05% มาอยู่ที่ 3.11% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคจาก 3.05% เพิ่มเป็น 3.23% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นจาก 1.67% เป็น 1.78% สินเชื่อรถยนต์ จาก 6.90% มาอยู่ที่ 7.30% สินเชื่อบัตรเครดิต จาก 1.80% เป็น 1.91% สินเชื่อส่วนบุคคลจาก 2.26% เป็น 2.31%

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่า ตัวเลข SM ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ที่ทรงตัวและปรับลดลงเล็กน้อย โดยตัวเลขเอ็นพีแอลรวมทั้งระบบไตรมาส 2 ทรงตัวที่ 2.95% คิดเป็นยอดหนี้เอ็นพีแอลคงค้าง 4.50 แสนล้านบาทลดลงจากไตรมาสก่อนประมาณ 3,300 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการตัดหนี้สูญและปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์

“ตัวเลข SM ที่ปรับขึ้น ธนาคารพาณิชย์ก็ให้ความเป็นห่วงเป็นพิเศษ จึงมีการจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพที่รัดกุมและเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่โดนจัดชั้นก็ต้องระมัดระวังในการทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนจะไหลไปเป็นเอ็นพีแอลแค่ไหนขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจด้วย”

สำหรับความคืบหน้าหลังจากธปท.เข้าไปตรวจสอบเป็นการเฉพาะ (Target Examination) ของสินเชื่อรถยนต์พบว่า คุณภาพสินเชื่อรถยนต์ธนาคารหลายแห่งปล่อยสินเชื่อที่หย่อนมาตรฐาน โดยประเมินรายได้ผู้กู้ที่ไม่รัดกุมและประเมินวงเงินและหลักประกันไม่ดี จนนำไปสู่การเปิดช่องการปล่อยสินเชื่อเงินทอน ซึ่งธปท.ได้กำชับธนาคารที่พบว่า อาจจะไม่เข้มงวดรัดกุมในปัญหาเหล่านี้ไปแล้ว และจะติดตามการปล่อยสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อรถยนต์ในธนาคารที่ได้กำชับไปแล้วอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีจะเห็นว่า ตัวเลข SM ของสินเชื่อรถยนต์ที่อยู่ในระดับสูง 7.30% จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 6.90% ถือเป็นตัวเลขปกติ เนื่องจากสินเชื่อรถยนต์เป็นสินเชื่อ
ที่มีหลักประกัน และเรียกคืนหนี้ได้เร็ว แต่สิ่งที่ธปท.เป็นห่วงคือ การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดการผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อและเปิดช่องสู่สินเชื่อ
เงินทอน ซึ่่งธปท.ไม่ต้องการให้ผู้กู้กลายเป็นหนี้เสียในอนาคต

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,499 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธปท.หวั่นหนี้เสียพุ่งหลังยอดค้างชำระ1-2เดือนทะยานยกแผง