ทำอย่างไรให้คอนเทนต์บนโลกดิจิทัลโดนใจได้ไปต่อ(1)

29 ส.ค. 2562 | 11:19 น.

 Thought Leadership

โดย : ตรีสุคนธ์ ไกรพานนท์

ผู้จัดการส่วนภาพลักษณ์องค์กร (Corporate Communication Group Head)

บริษัท IPG Mediabrands Thailand 

 

             3 กลยุทธ์ที่ทำให้ผู้บริโภคสนใจคอนเทนต์ นำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นแบบง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้

       ในโลกยุคดิจิทัล 4.0 บนสังเวียนการแข่งขันที่ธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ต่างก็ไม่สามารถมองข้ามเทรนด์ Disruptive Technology ไปได้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things (IoT), Augmented Reality (AR), Big Data, Cloud, Artificial Intelligence (AI), หรือ Blockchain ต่างเป็นสิ่งที่มาเร็ว ไป (ข้างหน้า) เร็ว อยู่ที่ความพร้อมของเหล่าธุรกิจ ว่าจะสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาแบรนด์ของตนได้อย่างไร การที่ตลาดพัฒนาเร็ว ย่อมทำให้ธุรกิจที่ก้าวไม่ทันโลกเกิดปัญหา นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Disruption หรือการหยุดชะงัก ขณะที่เรากำลังก้าวตามให้ทันโลกด้วยการบูรณะหรือยกเครื่องหลังบ้านใหม่ การประชาสัมพันธ์ธุรกิจหรือแบรนด์ (Public Relation หรือ PR) ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าและบริการเกิดความจงรักภักดี (Brand Loyalty)

        จากผลสำรวจ “Global Digital 2019” โดย We Are Social และ Hootsuite พบว่าจากจำนวนประชากรทั่วโลกกว่า 7.8 พันล้านคน มากกว่าครึ่งเข้าถึง “อินเตอร์เน็ต-โซเชียลมีเดีย” และในบรรดาจำนวนผู้ใช้ Social Network ทั้งหมดกว่า 3.2 พันล้านคนมีการใช้งาน “อินเตอร์เน็ต -โซเชียลมีเดีย” ผ่านโทรศัพท์มือถือ สำหรับประเทศไทยจากจำนวนประชากรในปัจจุบันกว่า 69.2 ล้านคน มีผู้บริโภคถึง 49 ล้านคน ที่ใช้ Social Media ผ่านโทรศัพท์มือถือ

          การประชาสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ที่ให้ผลดี มีประสิทธิภาพ มาจาก “คอนเทนต์” ที่โดนใจและจดจำได้โดยผู้บริโภค บทความนี้จะกล่าวถึง 3 กลยุทธ์ง่ายๆ ที่จะทำให้ผู้บริโภคสนใจคอนเทนต์ นำไปสู่การจดจำแบรนด์ และยอดขายที่เพิ่มขึ้น

ทำอย่างไรให้คอนเทนต์บนโลกดิจิทัลโดนใจได้ไปต่อ(1)

       1. ใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมการ “ฆ่าเวลา” ของผู้บริโภค ด้วยคอนเทนต์และภาพที่น่าจดจำ

        คนไทยใช้เวลาบนโลกอินเตอร์เน็ตโดยเฉลี่ยถึง 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน โดยใช้เวลาดูข่าวสารข้อมูล แชร์ แชต และอื่นๆ บน Social Media ประมาณ 3 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน* ในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคเดินทางไปเรียนหรือไปทำงานในตอนเช้าหรือกลับบ้านในตอนเย็น ส่วนใหญ่พวกเขาจะ “ฆ่าเวลา” ด้วยการท่องโลกออนไลน์ นี่เป็นโอกาสที่เราสามารถเข้ายึดพื้นที่การท่องโลกออนไลน์ด้วยคอนเทนต์ที่กระชับ เสริมด้วยภาพที่น่าจดจำ จากงานวิจัยของ ดร. Jennifer Aake นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกาพบว่าบุคลิกของแบรนด์มีอยู่ 5 มิติหลักๆ สื่อออกมาเป็นสีต่างๆ ได้แก่

              • สีนํ้าเงินคือความไว้วางใจ

              • สีแดงคือความตื่นเต้นเร้าใจ

              • สีเหลืองคือการมองโลกในแง่บวก สดใสร่าเริง

              • สีส้มคือความสนุก มั่นใจ สร้างสรรค์ และกระตือรือร้น

              • สีเขียวคือการรักธรรมชาติและคืนความสดชื่นกลับมา

              การสร้างคอนเทนต์แบบกระชับ ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคหรือเป็นการกล่าวถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือภาพรวม ไม่พูดถึงสินค้าแบบ Hard Sell จะสามารถสร้าง Activation จับจองพื้นที่ในความทรงจำของผู้บริโภคได้ และหากคอนเทนต์เหล่านั้นมีภาพประกอบโดยใช้สีที่สะท้อนอัตลักษณ์และบุคลิกของแบรนด์ (Corporate Identity and Brand Character) ก็จะเป็นวิธีการทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์หรือสินค้าได้ สุดท้ายอาจจะเพิ่มลูกเล่นด้วยตัว Mascot ที่มาจาก Persona ของแบรนด์ (หมายถึงถ้าเป็นคน แบรนด์นี้คือใคร) และเลือกที่จะ tie in สินค้าหรือบริการของเราเข้าไปหรือไม่ก็ได้

อ่านต่อฉบับหน้า 

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3500 ระหว่างวันที่ 29 - 31 สิงหาคม 2562