คอลัมน์พร็อพเพอร์ตีโฟกัส
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ รายงานดัชนีอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงไตรมาส 2 ดัชนีอุปทาน (Supply Index) มีการปรับตัวลดลง 4% จากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นภาพการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ลดลง และผู้ขายชะลอการนําสินค้าออกมาขาย เพื่อรอดูสถานการณ์หลังจากมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
จากอุปทานที่ลดลงในตลาดเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอัตราดูดซับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะสินค้าประเภทแนวราบ สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่เจาะกลุ่มตลาดบน ระดับราคาตั้งแต่ 8.5 ล้านบาทขึ้นไป มีอัตราดูดซับดีกว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนอุปทานลดลงจากไตรมาสก่อน 5%
สำหรับราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 ได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรก หรือคิดเป็น 1% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 ปีก่อนยังพบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้นถึง 19% โดยมีปัจจัยสําคัญมาจากต้นทุนในการพัฒนาโครงการที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดิน
เมื่อพิจารณาการเติบโตของที่อยู่อาศัยตามระดับราคา พบว่าที่อยู่อาศัยที่เจาะกลุ่มตลาดบนมีการปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยในระดับราคา 8.5-15 ล้านบาท ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% และที่ปรับตัวสูงสุดคือระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นถึง 5% จากไตรมาสก่อนหน้า
โดยทำเลที่มีอุปทานคอนโดมิเนียมสูงที่สุดยังคงเป็นเขตวัฒนา โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 22% ของอุปทานคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงไตรมาสแรกปี 2562 ถือเป็นเพียงไม่กี่เขตในกรุงเทพฯ ที่มีอุปทานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเพราะผู้ประกอบการมั่นใจว่าอุปทานในทำเลนี้ยังสามารถดึงดูดผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อสูงได้อยู่ จึงยังคงนำอุปทานในทำเลนี้ออกขาย โดย 54% อยู่ในแขวงคลองตันเหนือ (เอกมัย, ทองหล่อ, พร้อมพงษ์) มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มราคาที่เจาะกลุ่มกลาง-บน โดยเฉพาะระดับราคา 3.5-8.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 5%
ขณะที่เขตวัฒนายังคงมีอุปทานทาวน์เฮาส์สูงที่สุดต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 7% ของอุปทานทาวน์เฮาส์ทั้งหมดในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับเขตประเวศที่มีสัดส่วนจำนวนอุปทานบ้านเดี่ยวสูงสุดต่อเนื่องมาจากไตรมาสก่อนเช่นกัน โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 8% ของอุปทานบ้านเดี่ยวทั้งหมดในกรุงเทพฯ
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,500 วันที่ 29-31 สิงหาคม 2562