กสิกรไทยแนะกนง.ทบทวนทิศทางดอกเบี้ย

28 ส.ค. 2562 | 23:40 น.

กสิกรไทยชี้ถ้าเฟดลดดอกเบี้ย2ครั้งปีนี้หนุนต่างชาติเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรระยะยาว  แนะกนง.ทบทวนการใช้นโยบายการเงิน-เชียร์รัฐบาลใช้มาตรการด้านภาษีลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพประเทศระยะยาว

 

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนธนาคารกสิกรไทยกล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทว่าสิ้นปีนี้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ระดับ30.50บาทต่อดอลลาร์ซึ่งเป็นการปรับมุมมองจากก่อนหน้าที่มองไว้  31 บาทต่อดอลลาร์
  กอบสิทธิ์ ศิลปชัย    

สาเหตุจากประเมินว่าธนาคารกลาง สหรัฐ(เฟด)อาจถูกกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมจากประธานาธิบดีให้ปรับลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ อย่างน้อยอีก 2 ครั้ง โดยเห็นว่าสงครามทางการค้าเริ่มส่งผลต่อความเชื่อมั่น ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 รอบเพื่อเป็นการซื้อประกัน ไม่ให้เศรษฐกิจภาวะเข้าสู่ทดถอย และถ้าเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งจะเพิ่มสภาพคล่องทั่วโลก ซึ่งต้องหาทรัพย์สินปลอดภัยโดยที่เมืองไทยเป็นหนึ่งในช่องทาง ประกอบกับที่ผ่านมาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งมูดี้ และ s&p ได้ปรับคาดการณ์เรตติ้งของไทย 
       

ต่อข้อถามถึงแนวทางดำเนินนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)นั้น บริบทกนง.อาจจะแตกต่างจากเฟด คือถ้ากนง.จะปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายอาจเป็นดาบสองคม  เพราะถ้ากนง.จะส่งสัญญาณจะปรับลดดอกเบี้ยอีกจะเป็นการสร้างกระแสเก็งกำไรโดยนักลงทุนจะเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวซึ่งจะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก
     

 "ล่าสุดเดือนสิงหาคมจะเห็นนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ ระยะสั้น ประมาณ 7หมื่น ล้านบาทแต่ถือตราสารหนี้ระยะยาว 8.67แสนล้านบาท จึงควรจะทบทวนถ้าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่าตามทฤษฏีแต่การลดดอกเบี้ยที่ผ่านมาทำให้เงินบาทแข็งค่า ถ้าจะใช้นโยบายการเงินอีกคงจะไม่เป็นผลดีเพราะไทยมีข้อจำกัดอาจเข้าข่ายแทรกแซงค่าเงินตามสหรัฐตั้งข้อสังเกตุ"
     

อย่างไรก็ตามกรณีทางการจะออกมาตรการควบคุมตราสารหนี้เพิ่มเติมนั้น  ส่วนตัวมองว่าระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องหารือกันก่อน ขณะเดียวกันต้องชั่งน้ำหนักว่าจะดูแลผลประโยชน์ผู้ส่งออกหรือการจ้างงานและต้นทุนทางการเงิน
ในการกู้ของรัฐบาล
     

ส่วนมาตรการของรัฐวงเงิน 3.16แสนล้านบาทนั้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากเงินงบประมาณใหม่ที่จะออกมาในอนาคตจึงดำเนินมาตรการดังกล่าวเพื่อประคองสถานการณ์ก่อนจะมีงบประมาณประจำปี2563จะออกมา
   

"มีโอกาสที่เราจะปรับลดประมาณการจากเดิมที่คาดไว้3.1%ซึ่งเป็นการปรับลดลงตามสัญญาณภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า ซึ่งแนวโน้มกรณีสงครามทางการค้าสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น  โดยเมืองไทยจะต้องใช้มาตรการลดต้นทุน และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเพิ่มผลิตภาพจากการเพิ่มลดหย่อนทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนระยะยาว"
     

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจจะต้องทบทวนนโยบายด้านภาษี   โดยเฉพาะการหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาที่ตอบโจทย์ของสังคมส่วนใหญ่ทั้งลดต้นทุนค่าครองชีพหรือเพื่อกระตุ้นหรือต่อยอดไม่ให้แรงส่งแผ่วไปเพราะหากไม่ทำอะไรเลยตลาดในประเทศจะเติบโตช้าหรืออยู่ในภาวะชะงักงันและต่อไปอาจต้องใช้ยาแรงซึ่งอาจจะไม่คุ้มสำหรับการเริ่มกระ
ตุ้นใหม่