ชูโมเดลญี่ปุ่นกำจัดขยะพิษ ยกระดับนิคมอุตฯทั่วไทย

07 ก.ย. 2562 | 07:35 น.

รายงานพิเศษ

       

เมื่อเร็วๆ นี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น  เป้าหมายเพื่อนำโมเดลจากการศึกษาครั้งนี้มาปรับใช้ในการกำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมของไทยที่ กนอ.มุ่งยกระดับนิคมทุกแห่งทั่วประเทศที่เปิดดำเนินการให้สอดรับกับ หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อเข้าสู่เมืองอุตสาห กรรมเชิงนิเวศภายในปี 2564

 

รง.รีไซเคิลแห่งเดียวในญี่ปุ่น

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญได้ไปเยี่ยมชม โรงงานอิโตมูกะ (Itomuka Plant) ของ บริษัท โนมูระ เกาะสัน จำกัด (Nomura Kohsan Co., Ltd.) โดยเป็นผู้รีไซเคิลขยะเพียงผู้เดียวในญี่ปุ่น โรงงานหลักตั้งอยู่ในฮอกไกโด ดำเนินการกำจัดของเสียและรีไซเคิลเพื่อแยกสารปรอท นำมาปรับให้บริสุทธิ์ เดิมเรียกว่าเหมืองปรอท แต่ภายหลังดีมานด์ปรอทลดลง บริษัทได้เปลี่ยนเส้นทางธุรกิจสู่การรีไซเคิลปรอท โดยใช้เทคโนโลยีการกลั่น เมื่อปี 2516

 

ตั้งแต่นั้นมาบริษัทได้ดำเนินการโดยใช้หลอดไฟแบบฟลูออเรสเซนต์และแบตเตอรี่เซลล์แห้งนอกเหนือจากขยะอื่นๆ ที่มีสารประกอบปรอทนำไปเข้าสู่กระบวนการ แยกการปนเปื้อนปรอท โดยแยกได้กากตะกอน ซึ่งวิธีการหลากหลาย เช่น ขัดด้วยไฟฟ้าสถิต ใช้เครื่องดักฝุ่น ใช้ความร้อนอุณหภูมิประมาณ 600-800 องศา ซึ่งแยกกระบวนการตามวัตถุดิบที่ได้เพื่อให้ได้สารปรอทที่พร้อมจะนำไปจำหน่ายหรือนำไปผลิตเป็นวัสดุอื่นๆ ต่อไป

 

ชูโมเดลญี่ปุ่นกำจัดขยะพิษ  ยกระดับนิคมอุตฯทั่วไทย

 

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปรับกระบวนการกลั่นสารปรอทในโรงงานด้วยเพื่อให้ได้สารปรอทในระดับที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งบริษัทยังจัดการกับสารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม และจากความได้เปรียบด้านการแข่งขันดังกล่าวบริษัทยังได้พัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง พร้อมอำนวยความสะดวกโดยต่อยอดจัดตั้งธุรกิจเพื่อรวบรวมการขนส่งและการกำจัดขยะในเขตเทศบาลและอุตสาหกรรม การรีไซเคิลขยะในเขตเทศบาลและอุตสาหกรรมที่รวบรวมจาก 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น

 

ปัจจุบันบริษัทได้นำเข้าเศษวัสดุ และขยะจากหลายประเทศไปรีไซเคิล และแยกสารปรอทด้วยปริมาณการนำเข้าแต่ละปีกว่า 27,000 ตัน แยกเป็นแบตเตอรี่แห้ง 13,000 ตันต่อปี หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ใช้แล้ว 8,000 ตันต่อปี และของเสียที่มีปรอทอื่น 6,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากไทยประมาณ 100 ตัน โดยนำไปบำบัดและจัดเก็บตามกระบวนการทำงานของเทคโนโลยีการกลั่นปรอทขั้นสูง ก่อนที่จะแปรสภาพกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง

 

ชูโมเดลญี่ปุ่นกำจัดขยะพิษ  ยกระดับนิคมอุตฯทั่วไทย

 

ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ (สายปฏิบัติการ 2)  กนอ.กล่าวว่า ไทยจะต้องเตรียมรับมือกับขยะอันตรายที่จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยนิคมหลักของไทยที่ส่งออกขยะมี 2 แห่ง คือนิคมฯบางปู ส่งออกขยะอันตรายไปเบลเยียม และนิคมฯสงขลาส่งไปที่ญี่ปุ่น หากไม่สามารถส่งออกได้ต้องวางระบบบริหารจัดการที่ดี เพราะขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉายที่มีสารปรอทผสม เป็นขยะที่อันตราย หากดูแลหรือกำจัดไม่ถูกวิธีจะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและเกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมได้

 

อย่างไรก็ดีโอกาสที่ประเทศไทยจะลงทุนสร้างโรงงานแยกสารปรอทนั้นมองว่าคงยังเป็นได้ยากแต่อนาคตจะต้องหาแนวทางรับมือ ซึ่งหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวทางหนึ่ง โดยการมุ่งลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด ใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุดและสามารถบริหารจัดขยะมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในรูปแบบของวัตถุดิบเชื้อเพลิงหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่ทั่วโลกต่างมุ่งไป 

 

 

รัฐบาลไทยได้กำหนดให้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีโดยเทคโนโลยีดังกล่าวนับเป็นต้นแบบที่ กนอ.จะนำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการของเสียประเภทดังกล่าวที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมให้มีการจัดการอย่างถูกวิธีและมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบต่อไปในอนาคต

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,502 วันที่ 5-7 กันยายน 2562

ชูโมเดลญี่ปุ่นกำจัดขยะพิษ  ยกระดับนิคมอุตฯทั่วไทย