รวมบริการขนส่ง ‘ชิปป์สไมล์’ชูโมเดลแฟรนไชส์ ขยายสาขา1,000แห่ง

10 ก.ย. 2562 | 23:35 น.

“ชิปป์สไมล์” ปั้นสาขาออฟไลน์รวมบริการขนส่ง ตั้งเป้าสิ้นปีขยายกว่า 1,000 สาขา ชูโมเดลแฟรนไชส์ มีระบบโปรแกรมหน้าร้านเสมือนร้านสารพัดงานบริการ เจาะกลุ่มร้านกาแฟที่ต้องการสร้างรายได้เสริม คาดดันยอดส่งพัสดุกว่า 1 ล้านชิ้นต่อเดือน

ประเทศไทยมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์สูงถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ในทวีปเอเชีย โดยมีการเติบโตของธุรกิจออนไลน์อย่างต่อเนื่องจากร้านค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เมื่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์เติบโต การขนส่งสินค้าจึงต้องมีการปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของตลาด และผู้บริโภคเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ตลาดขนส่งสินค้าหรือพัสดุนั้นยังน้อยกว่าจำนวนพัสดุหรือสินค้าที่มีการซื้อขายเกิดขึ้นในแต่ละวัน

นายสฐีรณัฐ ลาภไกวัล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส จำกัด (SHIPSMILE SERVICES) เปิดเผยว่าบริษัทได้เปิดบริการ ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส ศูนย์รวมบริการขนส่งรายใหญ่ของไทย โดยยึดคอนเซ็ปต์ “แพลตฟอร์มออฟไลน์แบบครบวงจร หรือ ระบบโปรแกรมหน้าร้านเสมือนร้านสารพัดงานบริการ” โดยจะมุ่งนำเสนอแพลตฟอร์มดังกล่าวในลักษณะการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ไปยังกลุ่มผู้ที่มีธุรกิจเป็นของตนเองแล้ว และต้องการเปิดบริการกับชิปป์สไมล์ เพื่อหารายได้เสริม เช่น ร้านกาแฟ ที่มีต้นทุนจากค่าเช่าพื้นที่อยู่แล้ว การเพิ่มบริการจุดรับฝากส่งสินค้า (Drop off) เข้ามาเสริมกับธุรกิจหลักจะช่วยลดต้นทุนเรื่องค่าเช่าพื้นที่และช่วยเพิ่มรายได้อีกช่องทางนึง

“ข้อมูลจาก ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เผยว่าในช่วงปลายปี 2561 การซื้อขายออนไลน์มีมูลค่าอยู่ ที่ราว 3.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9-10% อีกทั้งคาดการณ์ว่าจากนี้จนถึงปี 2565 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทย น่าจะเติบโตขึ้นเฉลี่ย 22% และมีสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ที่สูงขึ้น ขณะที่ปัจจุบันยอดค้าปลีกในระบบมีเพียง 3% แต่จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป สู่ความเป็นดิจิทัล ทำให้ตลาดมีโอกาสเติบโตได้อีก ชิปป์สไมล์มองเห็นโอกาส จึงได้เปิดบริการชิปป์สไมล์ขึ้นมา”

รวมบริการขนส่ง ‘ชิปป์สไมล์’ชูโมเดลแฟรนไชส์ ขยายสาขา1,000แห่ง

สำหรับรูปแบบแฟรนไชส์จะแบ่งสาขาออกเป็น 2 รูปแบบคือ สาขาแฟรนไชส์แบบ full set ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจอยู่ที่ 229,900 บาทและรูปแบบจุดรับฝากส่งสินค้า (Drop off) มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 29,999 บาท สำหรับสัดส่วนการให้บริการในปัจจุบันของชิปป์สไมล์ จะเป็น Drop off ประมาณ 80% จากปัจจัยในเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้คนไม่อยากลงทุนด้วยต้นทุนที่สูง ทั้งนี้ชิปป์สไมล์ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการขนส่งด่วนรายหลักๆ ของประเทศ อาทิ ไปรษณีย์ไทย, แฟลช เอ็กซ์เพรส อัลฟ่า และดีเอชแอล เป็นต้น

“กลยุทธ์ในการแข่งขันนั้น ชิปป์สไมล์จะเน้นการประกบคู่แข่ง เพราะได้พาร์ตเนอร์ที่ราคาถูกที่สุดในไทย เพื่อชิงส่วนแบ่งจากขนส่งเอกชนเจ้าตลาดในขณะนี้ ด้วยการเปิดสาขาแฟรนไชส์ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกันเพื่อรองรับลูกค้าที่ไม่อยากรอคิวจากเจ้าใหญ่ ที่จะเข้ามาใช้บริการของชิปป์สไมล์แทน ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวก และให้อิสระแก่ลูกค้าในการเลือกบริษัทขนส่งที่ต้องการเอง โดยมีค่าบริการส่งพัสดุเริ่มต้นอยู่ที่ 25 บาท”

 

ทั้งนี้ชิปป์สไมล์มองตัวเองเป็นทั้งคู่แข่งและพาร์ตเนอร์ให้กับบริษัทขนส่ง ข้อได้เปรียบที่สร้างความแตกต่างกับคู่แข่งคือการมีหน้าร้านแบบออฟไลน์ ที่เน้นเรื่องของราคา เนื่องจากการพาร์ตเนอร์กับขนส่งโดยตรงทำให้ได้มาร์จินจากตรงนี้ ขณะที่เจ้าของธุรกิจที่เข้ามาร่วมกับชิปป์สไมล์บางรายสามารถคืนทุนภายไในเดือนเดียว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีเครือข่าย ก็จะทำธุรกิจนี้เป็นรายได้เพิ่มเติม อีกทั้งยังสามารถติดตามการจัดส่งได้จากเว็บไซต์ขนส่งโดยตรงผ่านการคลิกจากลิงก์บนหน้าเว็บไซต์ชิปป์สไมล์ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามคนไทยนั้นยังให้ความสำคัญกับบริการขนส่งที่รวดเร็วและราคาถูก ซึ่งบริการสั่งสินค้าวันนี้ส่งถึงในวันถัดไป (Next Day) ปัจจุบันยังเป็นจุดอ่อนที่หลายบริษัทไม่สามารถควบคุมให้ตรงตามต้องการได้ ยังต้องมีการพัฒนาบริการกันต่อไป นอกจากนี้ชิปป์สไมล์ยังตั้งเป้าที่จะให้บริการนอกเหนือจากบริการด้านการขนส่ง อาทิ การชำระเงินออนไลน์, เป็นตัวกลางรับฝากเอกสารสำหรับการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่างๆ, กาทำ พ.ร.บ., ภาษีรถ รวมถึงยังมีการพาร์ตเนอร์กับลาซาด้าด้วยบริการดรอปออฟสินค้าที่จำหน่ายให้กับผู้ค้าออนไลน์บนลาซาด้า 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3503 ระหว่างวันที่ 8 - 11  กันยายน 2562