'บุรีรัมย์สไตล์' จัดวางคน คุมยกชุด ยัน 'ว่าที่ปลัดคมนาคม'

06 ก.ย. 2562 | 12:26 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3503 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ย.2562 โดย...พรานบุญ

 

'บุรีรัมย์สไตล์' จัดวางคน

คุมยกชุด

ยัน 'ว่าที่ปลัดคมนาคม'

 

                  นับตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เสียงจากป่าดงพงไพรดังก้องกังวานไกล ว่าด้วยเรื่องของการจัดทัพข้าราชการในรัฐบาล “ลุงตู่2” เพราะปีนี้มีข้าราชการระดับอธิบดีที่เป็นมือเป็นไม้จะเกษียณมากมาย จึงเป็นโอกาสในการวางคน-สร้างคนของฝ่ายการเมืองได้โดยไม่ละอายใจ และไม่ละอายใคร

 

'บุรีรัมย์สไตล์' จัดวางคน คุมยกชุด ยัน 'ว่าที่ปลัดคมนาคม'

 

                  พรานฯผู้ท่องไพรอย่างข้าฯ เคยบอกกล่าวทุกท่านไปเมื่อต้นสิงหาคมแล้วว่าให้ติดตามให้ดีงานนี้ “พระยาเหยียบเมือง” จะดำเนินการแบบฮิตาชิ! ฉับพลันทันใดแน่นอน โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่คุมเค้กการลงทุนก้อนโต 1.9 ล้านล้านบาท และแล้วก็เป็นเช่นนั้น!

 

'บุรีรัมย์สไตล์' จัดวางคน คุมยกชุด ยัน 'ว่าที่ปลัดคมนาคม'

 

                  3 กันยายน 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงคมนาคมตามที่ บิ๊กโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมเสนอรวดเดียว 7 ตำแหน่ง ใครบ้างมาดูกัน

                  ไล่จาก พีระพล ถาวรสุภเจริญ ถูกโยกย้ายจากอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กลับไปเป็นรองปลัดกระทรวงตำแหน่งเดิมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่ “พีระพล” เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบกไปเมื่อ 1 ตุลาคม 2561 แทนที่ “สนิท พรหมวงษ์” ซึ่งต่อมาได้ขอเออร์ลี่ รีไทร์ก่อนเกษียณอายุราชการ 1 ปี

                  ย้าย อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ จากอธิบดีกรมทางหลวง กลับไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ทั้งๆ ที่อานนท์นั้นถือเป็นลูกรักรัฐบาลลุงตู่ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการขนส่งทางรางให้เป็นรูปธรรม

                  อีเห็นสอดขึ้นมาอธิบายให้เห็นภาพว่า อานนท์ถูกรัฐบาลลุงตู่ 1 ยืมตัวมาจากรองอธิบดีกรมทางหลวงเพื่อโอนย้ายมาทำหน้าที่ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ร่วม 16-18 เดือน ก่อนขอโบกมือกลับไปนั่งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง และถูกตั้งให้เป็นอธิบดีกรมทางหลวงเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ทำงานในกรมที่ตัวเองเป็นลูกหม้อ 1 ปี โดนเด้งกลับไปนั่งรองปลัดอีกครั้ง...

                  คนที่ 3 ที่ถูกหวยเบอร์ใหญ่คือ ย้าย อัมพวัน วรรณโก จากอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นตำแหน่งเดิมที่เธอเคยเป็นก่อนได้รับการแต่งตั้งมาเป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยานมาไม่ถึง 1 ปี

                  นังบ่างได้ทีป้ายสีตีไข่ใส่ข้อมูลแทรกขึ้นมาว่า คนที่ 4 ที่โดนลูกหลงคือ ลดตำแหน่ง สมัย โชติสกุล จากรองปลัดกระทรวงคมนาคม ลงมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ซึ่งถือว่าน้อยมากที่จะเกิดเหตุเช่นนี้หากไม่มีอะไรในกอไผ่ในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะปกติข้าราชการต้องไต่เต้าขึ้นไปจากรองอธิบดี ผู้ตรวจราชการ ไปเป็นอธิบดี หรือก้าวจากผู้ตรวจราชการไปเป็นรองปลัดกระทรวง

                  แต่หากจะมีการย้ายข้าราชการจากตำแหน่งรองปลัดลงมาเป็นผู้ตรวจราชการนั้นต้องถือว่าเป็นการ “ทำโทษ-ดับอนาคต” ข้าราชการในยุคนั้นกันเลยทีเดียว...นังบ่างว่าเข้าไปนั่น...

 

'บุรีรัมย์สไตล์' จัดวางคน คุมยกชุด ยัน 'ว่าที่ปลัดคมนาคม'

 

                  นังชะนีได้ทีชี้แจงแทนเสนาบดีว่า ที่มีการปูนบำเหน็จก็น่าสนใจ เพราะมีการขยับข้าราชการที่น่าสนใจในทางการเมืองอย่างยิ่ง 3 คน

                  คนแรก แต่งตั้ง วิทยา ยาม่วง จากผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ไปเป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า

                  คนที่สอง แต่งตั้ง จิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม ไปเป็น อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

                  คนสุดท้ายนี่น่าสนใจไม่ใช่เล่น เป็นการโยกข้าราชการนํ้าดีมีพลังเปี่ยมล้น ปฏิบัติการดันก้น สราวุธ ทรงศิวิไล จากอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ไปเป็นอธิบดีกรมทางหลวง แทนที่อานนท์ มือดีของรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 มิธรรมดาอย่างยิ่ง!

 

'บุรีรัมย์สไตล์' จัดวางคน คุมยกชุด ยัน 'ว่าที่ปลัดคมนาคม'

 

                  ทำไมถึงบอกว่า สราวุธน่าสนใจและขอให้ขีดเส้นใต้เอาไว้ว่าข้าราชการคนนี้มีดี โอกาสนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงมีอยู่ไม่ไกลในขณะที่มีอายุราชการยาวไปโน่นปี 2567 ขณะที่ระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี “สราวุธ” ก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้อธิบดีมาแล้ว 3 กรม ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน

                  ปี 2560-2561 สราวุธลูกหม้อกรมทางหลวงถือเป็นคู่แข่งที่จะก้าวขึ้นอธิบดีกรมทางหลวง ปรากฏว่าพ่ายในนาทีสุดท้ายก่อนเข้าครม. จึงถูกโยกออกจากกรมทางฯไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

                  ปี 2561 สราวุธก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ.สนข.) แทนที่ “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ที่ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม

                  21 พฤษภาคม 2562 ครม.ลุงตู่2 นี่แหละมีมติเลือก“สราวุธ ทรงศิวิไล” ผู้อำนวยการ สนข. ขึ้นเป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางรางคนแรก เพื่อวางแผนดูแลระบบขนส่งมวลชนทางราง ตั้งแต่รถไฟฟ้าและรถไฟทั้งประเทศ และต้องสร้างกลไกในการกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั้งประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน สามารถแข่งขันและเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบอื่นและประเทศเพื่อนบ้านได้

                  การวางตัว “สราวุธ” ในตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงครั้งนี้ของบิ๊กโอ๋-ศักดิ์สยามจึงถูกฝาถูกตัวอย่างยิ่ง เพราะอะไรนะรึ เพราะสราวุธยั้นถือเป็นเดี่ยวมือ 1 เป็นขุนพลมือดีที่เป็นคู่แข่งตีคู่มากับ “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” เริ่มต้นรับราชการกรมทางหลวงในตำแหน่งวิศวกรโยธา ฝ่ายแผนงาน กองบำรุง ตั้งแต่ปี 2529 เป็นหัวหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักบริหารบำรุงทาง ในปี 2540 ปี 2545 เป็นผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานผู้รับจ้าง (งานจดทะเบียนผู้รับเหมา), ปี 2547 เป็นผู้อำนวยการแขวงการทางธนบุรี, ปี 2549 ผู้อำนวยการแขวงการทางกรุงเทพ

                  ปี 2550 เป็นผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดกลยุทธ์และแผนงานบำรุงทาง สำนักบริหารบำรุงทาง ปี 2552 เป็นผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 (นครราชสีมา) ปี 2556 เป็นรองอธิบดีกรมทางหลวง ฝ่ายวิชาการ ปี 2557 ย้ายไปอยู่ฝ่ายบำรุงทาง ปี 2560 จึงก้าวขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการ

                  สราวุธนั้นถือเป็นสตาร์ขนาดว่าขึ้นชั้นอธิบดี 3 กรมภายในเวลา 1 ปีเศษ ขณะที่อายุเพียงแค่ 55 ปีเท่านั้น ดูเส้นทางแล้วต้องบอกว่าสราวุธ รู้เรื่องการก่อสร้าง ผู้รับเหมาประดุจฝ่ามือตัวเอง..รัฐมนตรีศักดิ์สยามตาถึงจริงๆ..นังชะนีออกอาการชื่นชม

 

'บุรีรัมย์สไตล์' จัดวางคน คุมยกชุด ยัน 'ว่าที่ปลัดคมนาคม'

 

                  เพราะกรมทางหลวงนั้นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ปี 2562 กรมทางหลวงได้รับจัดสรรงบประมาณ 119,091 ล้านบาท ปี 2563 ได้ทำเรื่องขอไป 2.4 แสนล้านบาท อะแฮ่ม...ไม่มากเมื่อเทียบกับงบกระทรวงคมนาคม 4 แสนล้านบาทเศษ

                  เหนือกว่านั้น “บิ๊กโอ๋” ทำห้างร้านไว้รอมือดีมาทำงานอีก 3 เก้าอี้ ผ่าน “การแขวนเก้าอี้อธิบดี” ไว้ล่อตาล่อใจข้าราชการผู้พิสมัยการเข้าสู่ตำแหน่ง เป็นการแขวนเก้าอี้อธิบดีกรมการขนส่งทางราง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท อธิบดีกรมท่าอากาศยาน หน่วยงานใหญ่ไว้รอท่า “ขุนพลมือดี” ที่ทำงานเป็น ใจถึง พึ่งได้

                  อีเห็นแอบกระซิบพรานฯ ไพรว่า เสนาบดีศักดิ์สยามได้สั่งการเป็นแนวไว้ว่าการแต่งตั้งผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิบดี 3 กรมใหญ่ที่แขวนไว้ชั่วคราวในระยะสั้น จะพยายามสรรหาขุนพลมือดีในระนาบ “รองอธิบดี” ของแต่ละหน่วยงานมาทำหน้าที่ เพื่อให้งานเดินเร็วจะไม่มี การโยกย้ายอธิบดีมาทำหน้าที่แบบข้ามห้วย ยกเว้น “บางคน” อะแฮ่ม!

                  กรมทางหลวงชนบทนั้น แม้มีรองอธิบดีหลายคน ไม่ว่า มานพ สุสิงห์ รองอธิบดี กับ ประศักดิ์ บัณฑุนาค ที่เป็นรองอธิบดีมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมิต้องระแวง สมัย โชติสกุล รองปลัดกระทรวง อดีตรองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ที่ถูกตอนบทบาทลงเหมือนกรมอื่น

                  กรมท่าอากาศยานนั้นอาจถึงเวลาที่ จรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีด้านมาตรฐาน วิทวัส ภักดีสันติสกุล รองอธิบดี ด้านเศรษฐกิจ และ สมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดี ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาจต้องแข่งกันหนักหน่วงแน่นอน

                  ขณะที่ “บางคน” ในความหมายอาจไม่มีการระบุถึง แต่อีเห็นไปสืบราชการลับมาว่าเป็นตำแหน่ง “อธิบดีกรมขนส่งทางราง” ซึ่งจะมีบุคลากร 203 คน ข้าราชการ 176 คน พนักงานราชการ 27 คน แต่จะเป็นหน่วยงานกลางคุมมาตรฐานระบบรางทั่วประเทศ ทั้งรถไฟและรถไฟฟ้า ทั้งกำกับดูแล การพัฒนาเส้นทาง ความปลอดภัยการก่อสร้าง การเดินรถ การประกอบกิจการ อัตราค่าโดยสาร ออกใบอนุญาตขับขี่ งบประมาณเป็นแสนล้านบาท

                  เสียงลิง ค่าง บ่าง ชะนี บอกออกมาตรงกันว่า ตำแหน่งนี้มีแคนดิเดตอยู่ 2 คน คนแรกคือ “ชยธรรม์ พรหมศร” รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คนที่2 คือ อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ถูกโยกพ้นกรมทางหลวงไปมหาดๆ แต่รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยากดึงมาทำงาน เพราะเป็นคนรุก รับ เร็ว แต่จะเป็นใครนั้นต้องรอลุ้นระทึก และต้องวัดใจ บิ๊กโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้ทำงานแบบรุก รับ เร็ว

 

'บุรีรัมย์สไตล์' จัดวางคน คุมยกชุด ยัน 'ว่าที่ปลัดคมนาคม'

 

                  ขณะที่กระทรวงคมนาคมลุ้นระทึกกับ 3 อธิบดีที่ถูกแขวนไว้นั้น ที่กระทรวงอุตสาหกรรมก็สนั่นลั่นทุ่งไม่น้อย แม้ว่ารัฐมนตรี ส.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะแต่งตั้ง กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในระนาบอธิบดียังไม่จบ รอบนี้มีข้าราชการระดับสูงเกษียณ 11 คน บรรดารองปลัดและผู้ตรวจราชการ และรองอธิบดีต่างก็อยากไขว่คว้าเก้าอี้กันทั้งสิ้น

                  นังบ่างบอกว่า ข้าราชการที่นี่บางคนผู้เคยเป็นรองอธิบดี ถูกตั้งขึ้นเป็น ผู้ตรวจราชการ รองปลัด มิเคยก้าวขึ้นอธิบดี กำลังสุมเชื้อไฟโค่นคู่แข่งอย่างหนักหน่วง หลังจากก่อนหน้า โยนระเบิดใส่ว่าที่ปลัดกอบชัยจนเนื้อตัวแทบไหม้ โชคดีที่มีพระคุ้มครองจากการทำความดีไว้จึงหลุดรอดขวากหนามมาได้

                  แต่ถึงตอนนี้ข้าราชการระดับ 10 ผู้นี้ยังไม่หยุด จ้องจะเข้าสู่ตำแหน่งอธิบดีให้ได้ ไม่ว่าวิธีการใด แม้แต่การเผาบ้านตัวเอง ขนาดว่าแอบส่งข้อมูลภายในให้ฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมิเว้นวัน

                  เสียงลือเสียงเล่าอ้างบอกว่า เก้าอี้อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ว่างเว้นอยู่นั้นคือเป้าหมายหลัก หากพลาดพลั้งขอนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก็ได้...ไม่รู้รัฐมนตรีสุริยะจะว่าอย่างไร...555

                  แต่เชื่อพรานฯเหอะครับ...ไม่ช้านานรู้ผล...ออกหัวออกก้อย...และต้องรอลุ้นว่า ณัฐพล รังสิตพล ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะฝ่าด่านหินได้หรือไม่...พงไพรนี้ลึกลับอย่างยิ่ง!