AI เปลี่ยนโลก

06 ก.ย. 2562 | 23:59 น.

บทความพิเศษโดย:

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย

   คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติ โดยจะมีบทบาทและมีผลกระทบที่ชัดเจนในทุกมิตินับจากนี้ไป และจะทำให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก 

   ที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ และรัสเซีย ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะเป็นผู้นำด้าน AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนประกาศให้ AI เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ และเป้าหมายว่าจะเป็นที่หนึ่งในด้าน AI ของโลกภายในปี 2030 ทำให้สหรัฐและหลายประเทศในยุโรป ต่างหวาดระแวงที่ประเทศจีนจะครอบครองตลาดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์และสามารถที่จะควบคุมการทำงานของเครือข่ายต่างๆ ในประเทศ จนทำให้สามารถที่จะโจมตีทางไซเบอร์ รวมทั้งยึดการทำงานบนระบบคลาวด์ของทั้งประเทศทุกประเทศได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น AI จึงเป็นประเด็นสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคงของประเทศ

   มีการศึกษาของ PwC ในปี 2017 พบว่า AI จะมีผลกระทบอย่างมากต่อสังคมและธุรกิจ โดยคาดว่า AI จะทำให้ GDP ของโลกเพิ่มขึ้นมากถึง 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2030 ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากการปรับปรุงผลิตภาพแรงงาน (productivity) และอีกครึ่งหนึ่งมาจากความต้องการผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง PwC ประมาณการว่าศักยภาพในการสร้างมูลค่าระหว่างอุตสาหกรรมการให้บริการระดับมืออาชีพจะมากถึง 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อุตสาหกรรมด้านการเงิน 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอีก 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

  นอกจากนี้ จากผลการศึกษาพบว่าอเมริกาเหนือจะเป็นผู้นำในการใช้ AI ในขณะที่ในยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียได้เริ่มมีการใช้ AI ตามมา โดยคาดว่าประเทศจีนมีการใช้ AI มากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากจีนได้ให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายในระดับประเทศว่าจะเป็นผู้นำ AI ในระดับโลกภายในปี 2030 ซึ่งทำให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และส่วนใหญ่จะพบว่าองค์กรเหล่านั้นจะมีการลงทุนทางด้าน AI มากขึ้น  

  แต่ข้อเสียของความก้าวหน้าทางด้าน AI จะเริ่มรุนแรงและส่งผลกระทบให้กับผู้ที่ไม่ได้ปรับตัว และยังสร้างความเสี่ยงให้กับองค์กรต่างๆ ในการดำเนินกิจการเพื่อความอยู่รอดอีกด้วย  

  ศาสตราจารย์ Michael Porter แห่ง Harvard Business School ได้แนะนำว่าเมื่อมีผลิตภัณฑ์เชื่อมต่ออัจฉริยะที่เกี่ยวข้อง AI และ big data เกิดขึ้นมาใหม่ ที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนในการเปลี่ยนแปลงทางการแข่งขัน ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องของความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่เป็นการดำรงคงอยู่ เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา พบว่าประมาณร้อยละ 52 ของบริษัทใน Fortune 500 companies ถูกซื้อ ถูกควบรวมกิจการ หรือต้องประกาศล้มละลาย ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าภัยคุกคามของการสูญเสียองค์กรเป็นเรื่องจริงมากขึ้นในทุกขณะ  

  ในปัจจุบันก็ได้มีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยตลาด บางราย ได้ส่งสัญญาณเตือน เกี่ยวกับผลกระทบของ AI อย่างเช่น Elon Musk และ Bill Gates ที่กังวลถึงผลกระทบของ AI ที่จะเกิดขึ้นหาก AI มีความชาญฉลาดมากจนเกินไป ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่มีมุมมองร่วมกันในประเด็นนี้

   แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจในสถานะของ AI ในปัจจุบันมากเท่าที่ควร บางคนอาจมองว่าการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญบางรายเป็นเรื่องที่พูดเกินจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากอันเนื่องมาจาก AI ซึ่งในตอนแรกอาจทำให้เราเกิดความกลัวและตื่นตระหนก แต่ในที่สุดก็จะกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ และในอุตสาหกรรมต่างๆ

    ตำแหน่งงานจำนวนมากจะหายไป ดังนั้นการฝึกอบรมแรงงานที่มีอยู่เพื่อให้สามารถปรับตัวได้จะกลายเป็นปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้น ซึ่งหากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI ส่วนใหญ่ ยังคงต้องการให้มนุษย์เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนขึ้นว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ ผู้บริหารระดับกลางและพนักงานบริษัทจะเริ่มมีการทำงานร่วมกับ AI มากขึ้น

    แม้ว่า AI จะทำให้มนุษย์ต้องสูญเสียตำแหน่งงานไป แต่ AI ก็จะสร้างงานประเภทใหม่ๆ ขึ้นมา และสามารถสร้างตำแหน่งงานได้มากกว่าตำแหน่งงานที่หายไปในไม่ช้านี้ เหมือนอย่างเช่นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น อินเทอร์เน็ตที่ทำให้งานบางประเภทเข้าสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทำให้เกิดงานประเภทใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่น นักออกแบบและพัฒนาเว็บ ผู้ดูแลฐานข้อมูล ผู้จัดการโซเชียลมีเดีย นักการตลาดดิจิทัล โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 AI จะสร้างงานได้มากถึง 2.3 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่มีตำแหน่งงานหายไป 1.8 ล้านตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งงานใหม่เหล่านี้บางส่วนจะอยู่ในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และวิศวกรรมข้อมูล ส่วนงานในองค์กรประเภท consulting firms จะมีการเติบโตมากขึ้น ทั้งในบริษัทดั้งเดิม เช่น McKinsey และ BCG และในบริษัทด้านวิทยาศาสตร์การตัดสินใจ (decision science) เช่น  Mu Sigma

 

   ในความเป็นจริง ผลกระทบของ AI น่าจะเกิดในวงกว้างอย่างมาก และมนุษย์เราเองก็ยังไม่สามารถคาดการณ์งานประเภทต่างๆ ที่มีผลกระทบจากการใช้ AI อย่างกว้างขวางได้ทั้งหมด แต่ที่แน่ๆ ก็คือ AI จะเป็นตัวผลักดันการแข่งขันของมนุษย์ เนื่องจาก AI สามารถเป็นผู้สร้างตำแหน่งงานประเภทใหม่ๆ ดังนั้นเทคโนโลยีก็จะเป็นผู้ทรงพลังในการปฏิรูปศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ  

      มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน ในภาคการเกษตรที่มีการใช้งาน AI จะช่วยให้เกษตรกรสามารถตอบสนองความต้องการพืชผลได้เพิ่มขึ้น 50% จากทรัพยากรที่ดินเพาะปลูกที่มีจำนวนลดน้อยลง การแพทย์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น จะทำให้สามารถวิเคราะห์และรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดีขึ้นจะสามารถตรวจจับภัยคุกคามได้ดียิ่งขึ้น หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบ AI จะช่วยผู้สูงอายุให้มีความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือแม้แต่การนำ AI มาใช้ในการสแกนคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานโพสต์และเว็บเพจออนไลน์นับพันล้านรายการ เพื่อค้นหาและตรวจสอบเนื้อหาที่น่าสงสัย เพื่อปกป้องเด็กและบุคคลต่างๆ จากการค้ามนุษย์และการละเมิดต่างๆ  ซึ่ง AI จะเข้ามาช่วยเหลือและสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนทั่วโลกได้เป็นอย่างมาก

     ในปัจจุบันภาคธุรกิจต่างๆ ได้ตระหนักถึงผลกระทบของ AI มากขึ้น และผู้นำรัฐบาลในหลายประเทศได้มีนโยบายในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น ในการทำความเข้าใจวิธีการควบคุม AI เพื่อให้สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจาก AI เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร ดังนั้นการขาดแคลนความสามารถด้าน AI จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทด้านเทคโนโลยีบางแห่ง เช่น Google, Facebook, Amazon และ Microsoft เป็นองค์กรที่มีความสามารถด้าน AI อย่างมาก และพบว่าบริษัทอย่างเช่น Facebook และ Google ได้ใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) ที่มีความสามารถเทียบเท่าผู้จบปริญญาเอกในสัดส่วนที่มากขึ้น 

 

    นอกจากนี้ ในภาคธุรกิจยังมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์ ทำ business intelligence หรือเป็นนักสถิติที่วิเคราะห์ข้อมูลจากชุดข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมได้ ซึ่งปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่มักจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาสู่ AI เท่านั้น ยังไม่ได้มีวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับ AI ที่แข็งแกร่ง ซึ่งตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมามีจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI เพิ่มมากขึ้นถึง 14 เท่า ในขณะที่การลงทุนร่วมในธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน AI ได้เพิ่มขึ้น 6 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน และนับตั้งแต่ปี 2013 สัดส่วนของงานที่ต้องใช้ทักษะด้าน AI ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 4.5 เท่า เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันมีความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและผู้บริหารที่มีทักษะด้านการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเมือง รัฐบาล บริษัท และมหาวิทยาลัย  

    การเพิ่มขึ้นของงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ได้ค่าตอบแทนสูง ทำให้มีผู้สนใจลงทะเบียนเรียนในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก โดยตั้งแต่ ปี 2010 ถึงปี 2015 มีผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์เพิ่มขึ้น 7.5% ซึ่งสูงกว่าในสาขาอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นเพียง 2.4% เท่านั้น และในปัจจุบันยังพบว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น มีหลักสูตรปริญญาโทมากกว่า 120 หลักสูตร ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรด้านการวิเคราะห์ธุรกิจมากกว่า 100 หลักสูตร และยังมีหลักสูตรในรูปแบบออนไลน์แบบเปิดเสรีที่รองรับผู้เรียนจำนวนมาก (MOOCs) และหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นได้รับความนิยมมากขึ้น

    การศึกษาของ Linkedln ในปี 2018 พบว่ามีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้น 500% นับตั้งแต่ปี 2014 ในขณะที่มีวิศวกรด้าน machine learning เติบโตถึง 1,200% และส่วนการศึกษาอีกฉบับในปี 2017 มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 งานด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและงานด้านการวิเคราะห์จะเพิ่มขึ้น 2,720,000 ตำแหน่ง และจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น  

    นอกจากนี้ในเว็บไซต์เกี่ยวกับงาน เช่น Glassdoor และ Linkedin พบว่าวิศวกรด้านการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักพัฒนา big data เป็นตำแหน่งงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นที่ต้องการของหลายๆ อุตสาหกรรม ส่งผลให้หลายๆ บริษัทต้องจ่ายเงินค่าจ้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นเงินจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2014 Google ได้ซื้อบริษัท DeepMind Technologies สตาร์ทอัพด้าน AI โดยมีพนักงานเพียง 75 คน แต่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างมากถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเงินมากกว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อพนักงาน 1 คน แต่ก็เพื่อผลลัพธ์ที่สำคัญ นั่นก็คือการนำไปสู่การพัฒนา AlphaGo ซึ่งเป็น AI ที่สามารถเอาชนะผู้เล่นมืออาชีพได้ ซึ่งเหตุการณ์นั้นเองที่ทำให้เกิด “ช่วงเวลาแห่งสปุตนิก” (Sputnik moment) ของจีนขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนออกมาผลักดันยุทธศาสตร์ AI ให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศ 

   เมื่อเทคโนโลยี AI กำลังก้าวหน้าด้วยอัตราเร่ง จึงทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต การทำงานและอาชีพต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย จนมีการคาดการณ์ว่า AI จะถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการพัฒนาประเทศอีกด้วย แต่อีกด้านหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การพลิกผันในทุกอุตสาหกรรม (Disruption) กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้นำและผู้บริหารประเทศในยุคต่อจากนี้ไป จะไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางของประเทศได้อย่างถูกต้อง หากไม่มีความรู้และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน ซึ่งมีผลกระทบจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI