หลังกล้องไซบีเรีย: “วลาดิวาสตอก” จุดยุทธศาสตร์เชื่อมแปซิฟิก

08 ก.ย. 2562 | 00:00 น.

หลังกล้องไซบีเรีย: “วลาดิวาสตอก” จุดยุทธศาสตร์เชื่อมแปซิฟิก

เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์

 

"วลาดิวาสตอก" บางคนอาจรู้จักกับเมืองในตะวันออกไกลแห่งนี้ ในฐานะเมืองปลายทางเส้นทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก "ทรานไซบีเรีย" แต่หลายคนอาจยังไม่เห็นอีกมุมหนึ่งของวลาดิวาสตอก ในฐานะ "เมืองยุทธศาสตร์" ของดินแดนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาวลาดิวาสตอกเพิ่งปิดน่านฟ้าเพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ต้อนรับผู้นำระดับโลก แขกและตัวแทนผู้นำประเทศ และนักธุรกิจนานาชาติที่เข้ามาร่วมงาน Eastern Economic Forum ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตามคำสั่งของประธานาธิบดีปูตินเมื่อปี 2558

 

หากกางแผนที่รัสเซียออกมาดู จะเห็นว่าถนนทุกเส้นวิ่งเข้าหากรุงมอสโก เมืองธุรกิจใหญ่ๆ ก็กองรวมอยู่ทางซ้ายสุดของประเทศใกล้ยุโรป และภาพลักษณ์ของรัสเซียก็ดูคล้ายคลึงกับชาวตะวันตก จนหลายคนอาจจะลืมไปว่า ด้านขวาสุดของประเทศที่ร่ำรวยทางภูมิศาสตร์แห่งนี้ยาวไปจรดถึงมหาสมุทรแปซิฟิก เชื่อมกับคู่ค้าสำคัญที่เป็นเป้าหมายหลักของงาน Eastern Economic Forum เช่น พี่ใหญ่ทางเศรษฐกิจเอเชียจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

หลังกล้องไซบีเรีย: “วลาดิวาสตอก” จุดยุทธศาสตร์เชื่อมแปซิฟิก

มิหนำซ้ำ แม้ว่าพื้นที่ถัดจากเทือกเขาอูรัลข้ามมาไซบีเรียจรดแดนตะวันออกไกลจะดูเป็นแดนสนธยาในสายตาต่างชาติ แต่พื้นที่แห่งนี้จะเป็นไพ่ลับของรัสเซีย เพราะมีทั้งแหล่งเหมืองแร่ ทองคำ เพชร แอ่งน้ำมัน แหล่งประมงและแหล่งป่าไม้ชั้นดีที่หล่อเลี้ยงประเทศไว้ 

 

แม้อย่างนั้น เศรษฐกิจรัสเซียก็ยังกระจุกอยู่ในบริเวณใกล้เมืองหลวง และแผ่ขยายมาไม่ถึงฝั่งตะวันออกที่ห่างกันถึง 6 ไทม์โซนเสียที จึงเป็นที่มาของแผนการดึงนักธุรกิจเข้ามายังพื้นที่นี้อย่างเร่งด่วน

 

วลาดิวาสตอก คือ ตัวเลือกที่รัสเซียพยายามชูให้นักธุรกิจเข้ามาหา เพราะนอกจากจะอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังทั่วประเทศแล้ว ยังมีท่าเรือขนส่งขนาดใหญ่เชื่อมกับประเทศฝั่งเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย

ในทางกลับกัน วลาดิวาสตอก ก็ยังเป็นจุดโยงที่รัสเซียพยายามใช้สานความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอเชียแปซิฟิก เปิดตลาดกับพื้นที่ที่ไกลออกไปทั้งเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เห็นได้จากปีนี้ รัฐบาลรัสเซียตั้งใจจีบนายนเรนทรา โมดี นายกฯ อินเดีย และส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาชวนนายมหาเธร์ โมฮัมมัด นายกฯ มาเลเซียมาร่วมงานนี้ด้วย เมื่อครั้งที่เจอกันในงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่กรุงเทพฯ อีกด้วย ซึ่งน่าสนใจว่าหลังจากผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ แต่กลับเลือกเชิญเฉพาะผู้นำมาเลเซียเข้าร่วม

หลังกล้องไซบีเรีย: “วลาดิวาสตอก” จุดยุทธศาสตร์เชื่อมแปซิฟิก

รัสเซียเดินหน้าผลักดันเวทีนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะตะวันออกไกลถือเป็นความหวังของรัสเซียเลยก็ว่าได้ ที่จะส่งให้เศรษฐกิจประเทศโตขึ้นกว่าเดิม

 

ปัจจุบัน คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะโตได้ 5-5.6% ต่อปีไปจนถึงปี 2024 และหากเศรษฐกิจของตะวันออกไกลของรัสเซียมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของรัสเซียสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็เป็นไปได้