บ่วงกรรมจำนำข้าว เบื้องหลัง 'จำคุกโรงสีขี้โกง'

10 ก.ย. 2562 | 11:57 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย.2562 โดย...พรานบุญ

 

บ่วงกรรมจำนำข้าว

เบื้องหลัง

'จำคุกโรงสีขี้โกง'

 

            แตกฮือกันทั้งท้องทุ่งอันเขียวชอุ่มพุ่มไสว เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน วินิจฉัยอุทธรณ์ ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว, เสี่ยฮุก-บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และพวกรวม 28 คน ในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) พิพากษาแก้คำตัดสินใหม่ด้วยการเพิ่มโทษจำคุก บุญทรง อีก 6 ปี รวมทุกกระทงจำคุก 48 ปี

            ขณะที่กลุ่มโรงสี 7-8 ราย ที่เคยถูกสั่งยกฟ้องไล่จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22, นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 23, บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ จำเลยที่ 24, บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25, นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26, บริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 และ นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท จำเลยที่ 28 ...

            แก้คำพิพากษาใหม่ ให้จำคุกและสั่งปรับ 6 ราย แต่รอลงอาญา 3 ปี ...

            ทุ่งนาอันเขียวขจีก็ซีดเผือด หน้างอ คอหัก นกกา กระจิบ กระจาบ พิราบน้อย ยันอีกา พญาแร้ง แตกกระพือ!

            ผู้ส่งออกข้าว ชาวนา ยันพ่อค้า อ้าปากค้าง สอบถามพรานฯ ผู้ท่องไพรในอาณาจักรไรซ์แอนด์โรงสีว่า เป็นไปได้จะได?

            พรานฯ ออกจากป่ามาไขปมอรรถคดีให้เห็นแบบตาแจ้งว่า พิษบ่วงกรรมจำนำข้าวนั้นรุนแรงแค่ไหน ทำไมเจ้าของโรงสีต้องเผชิญคุก เรื่องนี้มีที่มา...ที่ไปที่ต้องศึกษา

            คดีนี้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษาครั้งแรกจำคุก “เสี่ยฮุก-บุญทรง” และจำเลยร่วมคนอื่นๆ รวม 15 ราย คนละ 4-48 ปี และยกฟ้องกลุ่มเอกชน+โรงสี 8 ราย ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยบางคน และให้ลงโทษกลุ่มบริษัทโรงสีข้าว ขณะที่จำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามกฎหมายใหม่

            กลุ่มเอกชนใน 8 รายที่ถูกศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง 7 ราย เป็นโรงสี-เอกชนค้าข้าวรายย่อยคือ จำเลยที่ 22-28 ซึ่งอ้างว่า ซื้อข้าวต่อจาก “หมอโด่ง-พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ” อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (จำเลยที่ 3 หลบหนีคดี) โดยมี “โจ-นิมล รักดี” จำเลยที่ 15 ถูกสั่งจำคุก 32 ปี เป็นผู้ติดต่อขายข้าวให้

            รอบนั้นศาลฎีกาฯ ไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการยกฟ้องเอกชน เพราะมีองค์คณะผู้พิพากษา 1 คน ทำความเห็นส่วนตนว่า ควรลงโทษจำเลยที่ 22-28 ผู้พิพากษาท่านนั้นคือ “อภิรัตน์ ลัดพลี” อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้ซึ่งเคยพิพากษาตัดสินว่า พล.ร.อ.อิทธิชัย สุพรรณกูล ผู้เคยเป็นกรรมการในบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน สั่งจำคุก 2 เดือนปรับ 4,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี

            คำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ในรอบนั้น “อภิรัตน์ ลัดพลี” แสดงความคิดเห็นค้านให้ลงโทษโรงสี+เอกชนไว้เช่นไร..พรานฯ พามาดูข้อสังเกตในปีที่แล้ว แต่มาพ่นพิษเอาปีนี้จนบรรดา “ขาใหญ่วงการข้าวและโรงสี” ต้องติดคุกกัน

            ผู้พิพากษาอภิรัตน์ทำความเห็นเช่นนี้...เห็นว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ 22-28 ด้วย เนื่องจากเห็นว่า แม้จะอ้างว่า ไม่รู้จักกับ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ หรือนายนิมล ก็ตาม แต่การซื้อข้าวดังกล่าวในฐานะเป็นเอกชนค้าข้าวประกอบธุรกิจมาหลายปี ย่อมรู้ดีว่า การซื้อข้าวแบบนี้ไม่ปกติ จึงเชื่อว่า “อาจมีพฤติการณ์สมรู้ร่วมคิดด้วย”

            ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 22-28 ร่วมกันซื้อและรับมอบข้าวตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ โดยรู้อยู่แล้วว่า มีการทุจริตนำข้าวที่ทำสัญญาแบบจีทูจีมาขายอันเป็นการสนับสนุนนายภูมิ จำเลยที่ 1 นายบุญทรง จำเลยที่ 2 นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว จำเลยที่ 5 และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 6

            ผู้พิพากษาอภิรัตน์ทำความเห็นเช่นนี้ วินิจฉัยในส่วนของ หจก.โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22 นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.โรงสีกิจทวียโสธร และกรรมการบริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด จำเลยที่ 23 และบริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด จำเลยที่ 24 ก่อน

            จำเลยที่ 22-24 ให้การต่อสู้ว่า ไม่ทราบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และการทำสัญญาแบบจีทูจี จึงสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คซื้อข้าวโดยสุจริตในราคาตลาดจากคลังสินค้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เช่าจากจำเลยที่ 22 และไม่ได้รับมอบข้าวจากคลังสินค้าอื่นนั้น

            ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า จำเลยที่ 22 โดยจำเลยที่ 22 นำแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายกรมการค้าต่างประเทศ ซื้อและรับมอบข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐในคลังสินค้าที่ จ.ยโสธร ซึ่งเป็นคลังสินค้าที่ อคส. เช่าจากจำเลยที่ 22 รวมหลายฉบับ วงเงินหลายร้อยล้านบาท

            ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยาน 4 ปากที่ปรากฏชื่อเป็นผู้รับมอบข้าวในใบส่งสินค้าของบางคลัง และไม่มีความเกี่ยวพันกับจำเลยที่ 22-24 เชื่อว่า จำเลยที่ 22-24 ไม่ได้รับมอบข้าวจากคลังสินค้าดังกล่าว

            ผู้พิพากษาอภิรัตน์ตั้งคำถามที่ต้องการคำตอบว่า “ปัญหาว่าจำเลยที่ 22-24 รู้หรือไม่ว่า มีการทุจริตนำข้าวตามสัญญาแบบจีทูจีดังกล่าวมาขายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 22-24 ซื้อข้าวในปริมาณมากมีมูลค่ารวมกันหลายร้อยล้านบาท จำเลยที่ 22-24 ประกอบกิจการค้าข้าวมานาน และยังทำสัญญาให้ อคส. เช่าคลังสินค้า จำเลยที่ 23 เบิกความว่า การซื้อข้าวล็อตนี้ตนคิดว่า ซื้อกับ อคส. จึงย่อมทราบว่าการซื้อข้าวจากคลังสินค้าของรัฐต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการ โดยการประมูลหรือทำสัญญาซื้อขายเช่นกัน

            แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากจำเลยที่ 23 ว่า นายนิมล  ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน โทรศัพท์มาเสนอขายข้าวในคลังที่ อคส. เช่าจากจำเลยที่ 22 และยืนยันว่า หากต้องการซื้อข้าวให้ติดต่อ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ (จำเลยที่ 3) พร้อมให้หมายเลขโทรศัพท์ของ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ไว้ หลังจากนั้นจึงโทรศัพท์ไปหากรรมการบริษัท ไทยฟ้า จำกัด (หนึ่งในเอกชนที่ถูก ป.ป.ช. กันไว้เป็นพยาน) ได้คำยืนยันว่า สามารถซื้อข้าวจาก พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ได้จริง จึงโทรศัพท์ไปหา พ.ต.นพ.วีระวุฒิ และทราบว่า มีอำนาจขายข้าว จึงต่อรองราคาจนได้ข้อยุติและตกลงซื้อ ปรากฏว่า การซื้อข้าวที่มีปริมาณและมูลค่าสูงมากขนาดนั้น กลับไม่มีการทำสัญญาซื้อขาย

            จำเลยที่ 23 ชี้แจงข้อกล่าวหาต่ออนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ว่า ราคาข้าวที่ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ เสนอนั้น พอมีกำไรอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นราคาที่ตํ่ากว่าราคาขายส่งภายในประเทศ พอถึงการชำระค่าข้าว จำเลยที่ 23 เบิกความว่า พ.ต.นพ.วีระวุฒิ แจ้งให้นำแคชเชียร์เช็คไปมอบให้ นายสมคิด เอื้อนสุภา (จำเลยที่ 7) ที่ร้านกาแฟ ชั้น 3 ของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อนำแคชเชียร์เช็คไปส่งมอบให้นายสมคิด ไม่ปรากฏว่า มีการออกใบเสร็จรับเงิน

            หลักฐาน ใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษีที่จำเลยที่ 22-24 มอบให้บุคคลที่รับมอบข้าว มิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 22-24 เป็นผู้ซื้อ

            แม้จำเลยที่ 23 จะอ้างว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่รับจำนำข้าวเปลือก สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดทำให้เกิดภาวะขาดแคลนข้าวในตลาด แต่การที่จำเลยที่ 22-24 ซื้อข้าวจากคลังสินค้าของรัฐในลักษณะที่ซื้อได้ก็ซื้อโดยไม่สนใจวิธีการว่า จะถูกต้องตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ จึงถือว่าเป็นพิรุธ

            พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเชื่อว่า จำเลยที่ 22-24 รู้ว่า มีการทุจริตนำข้าวตามสัญญาแบบจีทูจีมาขาย การที่จำเลยที่ 22-24 ร่วมกันซื้อข้าวและรับมอบข้าวบางส่วน จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 และ 4-6

            นี่คือต้นเรื่อง พอมีการต่อสู้กันในชั้นอุทธรณ์ของศาลฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลยนัดสุดท้ายที่ชี้เป็นชี้ตาย ทำให้เจ้าของโรงสีใหญ่ จึงโดนพิพากษาให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 23 (นายทวี) จำนวน 4 ปี แต่รอการลงโทษ 3 ปี ปรับ 25,000 บาท ส่วนจำเลยที่เป็นนิติบุคคลคือ 22, 24 ให้ปรับ 50,000 บาท!

            ชัดเจน ตาแจ้งว่าทำไม ท้องทุ่งนายันโรงสีจึงกระเจิดกระเจิง มั่ยขอรับนายท่าน...ฉบับหน้าพรานฯ จะออกล่า “ขาใหญ่เจียเม้ง”...คุกๆ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Big Story บ่วงกรรม จำนำข้าว