สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (13)

11 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย.2562 โดย.. บากบั่น บุญเลิศ

+++

สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’

ประวัติศาสตร์การประมูล (13)

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด บัดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน

                  อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไมยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้

                  สัญญาที่ติดขัดตรงไหน ตอนที่แล้วเป็นสัญญาว่าด้วยเรื่องมาตรการทางการเงิน ตอนนี้ผมพามาติดตามร่างสัญญาตอนที่ 13 ซึ่งว่าด้วยข้อ

                  12. ว่าด้วยเรื่อง ภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ความในสัญญาดังนี้

                  12.1  เว้นแต่จะได้รับสิทธิยกเว้นหรือสิทธิในการลดหย่อนภาษีใดๆ ตามกฎหมายไทย เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระบรรดาภาษี  อากร  ค่าใบอนุญาตค่าธรรมเนียม  ค่าใช้จ่ายใดๆ ที่หน่วยงานของรัฐเรียกเก็บตามกฎหมายไทย  และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องตามสัญญาร่วมลงทุน 

                  อย่างไรก็ตาม หากเอกชนคู่สัญญาให้ผู้อื่นเช่าเช่าช่วง และ/หรือใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และ/หรือ สิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ดังกล่าว เอกชนคู่สัญญาจะต้องรับผิดชอบชำระภาษีอากร ค่าใบอนุญาต ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายใดๆ  ที่หน่วยงานของรัฐเรียกเก็บทั้งสิ้น

                  12.2  ในกรณีที่เอกชนคู่สัญญามิได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายไทยกำหนด และเป็นเหตุให้ รฟท.ต้องชำระภาษีดังกล่าวไปก่อนหรือต้องเสียค่าปรับ  และ/หรือเงินเพิ่มตามกฎหมายไทยและค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามี)  เอกชนคู่สัญญาจะต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่ รฟท. รวมทั้งดอกเบี้ย (ถ้ามี) จนกว่า รฟท. จะได้รับชำระคืนทั้งหมด

                  13. การให้ความยินยอมในการก่อภาระผูกพัน กำหนดดังนี้...เว้นแต่เป็นการก่อภาระผูกพัน  เพื่อเป็นหลักประกันต่อผู้สนับสนุนทางการเงินตามสัญญาจัดหาเงินสนับสนุน เอกชนคู่สัญญาจะไม่ก่อภาระผูกพันใดๆ เหนือสิทธิและหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาภายใต้สัญญาร่วมลงทุน  ทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญ และทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ โดยไม่ได้รับการอนุมัติจาก รฟท.

                  ทั้งนี้  กรณีที่จะมีการบังคับหลักประกันเหนือทรัพย์สินที่มีการก่อภาระผูกพัน คู่สัญญาตกลงว่าเอกชนคู่สัญญาจะดำเนินการบังคับหลักประกันเหนือทรัพย์สินที่มีการก่อภาระผูกพัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะของโครงการฯ หรือสิทธิ รฟท. ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน  หรือการดำเนินโครงการฯของบุคคลอื่นใดที่จะเข้ามารับโอนสิทธิและ/หรือหน้าที่ใดๆ ของเอกชนคู่สัญญาภายใต้สัญญาร่วมลงทุน

                  14.  ที่ปรึกษา กำหนดไว้ในข้อ 14.1  ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง (1) รฟท. และ/หรือ สำนักงาน จะว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง โดย รฟท. และ/หรือ สำนักงานจะแต่งตั้งที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาในส่วนของการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟและการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาร่วมลงทุน โดยที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างจะต้องมีคุณสมบัติและความเชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานระดับสากลในสาขาที่ว่าจ้างนั้น  และในการดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างนั้นจะดำเนินการร่วมกันระหว่าง รฟท. และสำนักงาน โดยปฏิบัติตามกฎหมายไทยและหลักเกณฑ์ที่ รฟท. และสำนักงานร่วมกันกำหนด

                  ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง ตามสัญญาร่วมลงทุน โดย รฟท. และ/หรือ สำนักงานมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการกำหนดค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างและการอนุมัติให้ชำระค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด หาก รฟท. และ/หรือ สำนักงานได้ชำระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างดังกล่าวไปก่อน  เอกชนคู่สัญญาตกลงชำระเงินค่าใช้จ่ายนั้นคืนแก่ รฟท. และ/หรือ สำนักงานภายในสิบห้า (15) วัน  นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามจาก รฟท. และ/ หรือ สำนักงาน

                  (2) ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟและงานโยธาของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน  โดยหากเป็นกรณีที่มีนัยสำคัญและกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของ รฟท.  ตามสัญญาร่วมลงทุน การปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง  จะต้องได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจาก รฟท. ก่อน นอกจากนี้  หากเป็นกรณีที่ รฟท. กำหนด  ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างอาจใช้สิทธิต่างๆ แทนและในนามของ รฟท. ได้ โดย รฟท.  จะมีหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาทราบถึงการดำเนินการดังกล่าว

                  14.2  ที่ปรึกษาตรวจสอบ กำหนดดังนี้ (1) ในการดำเนินโครงการฯ รฟท. และ/หรือ สำนักงานจะว่าจ้างที่ปรึกษาตรวจสอบ  โดย รฟท. และ/หรือ สำนักงานจะแต่งตั้งที่ปรึกษาตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาในส่วนของการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟและการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาร่วมลงทุน  และเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและทดสอบ (Testing) ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ รวมถึงการทดสอบแต่ละระบบ (Individual Testing) การทดสอบระบบโดยรวม (Integrated System Testing) การทดลองเดินรถ (Trial Run)  โดยที่ปรึกษาตรวจสอบ จะต้องมีคุณสมบัติและความเชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานระดับสากลในสาขาที่ว่าจ้างนั้น และในการดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งที่ปรึกษาตรวจสอบนั้นจะดำเนินการร่วมกันระหว่าง รฟท. และสำนักงาน  โดยปฏิบัติตามกฎหมายไทยและหลักเกณฑ์ที่ รฟท. และสำนักงานร่วมกันกำหนด

                  ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งที่ปรึกษาตรวจสอบโดย รฟท. และ/หรือ สำนักงานมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการกำหนดค่าจ้างที่ปรึกษาตรวจสอบและการอนุมัติให้ชำระค่าจ้างที่ปรึกษาตรวจสอบทั้งหมด หาก รฟท. และ/หรือ สำนักงานได้ชำระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าวไปก่อน  เอกชนคู่สัญญาตกลงชำระเงินค่าใช้จ่ายนั้นคืนแก่ รฟท. และ/หรือ สำนักงานภายในสิบห้า (15) วัน  นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามจาก รฟท. และ/หรือ สำนักงาน

                  (2) ที่ปรึกษาตรวจสอบมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟและงานโยธาของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน โดยหากเป็นกรณีที่นัยสำคัญและกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของ รฟท. ตามสัญญาร่วมลงทุน การปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาตรวจสอบ  จะต้องได้รับอนุมัติจาก รฟท. ก่อน นอกจากนี้หากเป็นกรณีที่ รฟท. กำหนด ที่ปรึกษาตรวจสอบอาจใช้สิทธิต่างๆ แทนและในนามของ รฟท. ได้ โดย รฟท. จะต้องมีหนังสือแจ้งใหเอกชนคู่สัญญาทราบถึงการดำเนินการดังกล่าว

                  (3) เว้นแต่กรณีที่ปรึกษาตรวจสอบใช้สิทธิต่างๆ แทนและในนามของ รฟท. ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14.2(2) คู่สัญญาตกลงยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่าง รฟท. และที่ปรึกษาตรวจสอบไม่ได้อยู่ในลักษณะความสัมพันธ์ตัวการและตัวแทนตามกฎหมายไทย

                  14.3 เอกชนคู่สัญญา จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างตามข้อ 14.1 และที่ปรึกษาตรวจสอบตามข้อ 14.2 ซึ่งมีจำนวนไม่เกินสี่พันสี่ร้อยยี่สิบเก้าล้านแปดแสนสี่หมื่น (4,429,840,000) บาท และอัตราค่าจ้างและการชำระค่าจ้างสำหรับที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างและที่ปรึกษาตรวจสอบจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปสำหรับการจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างและที่ปรึกษาตรวจสอบ และ รฟท. และ/หรือ สำนักงาน  จะนำส่งสำเนาสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาให้แก่เอกชนคู่สัญญาในระยะเวลาอันเหมาะสมหลังจากมีการว่าจ้างที่ปรึกษานั้น

                  อ่านแล้วเป็นอย่างไรครับ สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ผมขอบอกว่าเนื้อหาในสัญญายิ่งมายิ่งเข้มข้น!