แบงก์ผนึกสตาร์ตอัพ ปล่อยสินเชื่อรายย่อย

13 ก.ย. 2562 | 03:00 น.

แบงก์สบช่องดึงกลุ่มสตาร์ตอัพร่วมเป็นช่องทางขยายตลาดสินเชื่อรายย่อย “บิลค์” เปิดแน่บริการเงินกู้กลุ่มรับเหมาก่อ สร้างรายย่อย ด้านรีคัลท์ เล็งผนึก ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อเกษตรกร ขณะที่ฟินแก๊ส ผุดไอเดีย สินเชื่อก๊าซหุงต้ม พ่อค้า แม่ค้าสตรีตฟู๊ด

“สตาร์ตอัพ” กำลังกลายเป็นช่องทางการขยายบริการการเงินและสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อยให้กับกลุ่มธนาคาร โดยสตาร์ตอัพ มีฐานข้อมูลผู้ประกอบการรายย่อย หรือ ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม ที่สามารถนำมาวิเคราะห์การให้สินเชื่อ ขณะที่ธนาคารต้องการขยายบริการการเงินไปยังกลุ่มผู้ให้บริการรายย่อย ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยก็มีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้หมุนเวียนธุรกิจ หรือ เสริมสภาพคล่อง

นายผไท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด แพลตฟอร์มโปรแกรมควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง และซื้อขายวัสดุก่อสร้าง BUILK เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับธนาคาร เพื่อให้บริการทางด้านการเงินกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในระบบ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับธนาคารทีเอ็มบี เพื่อให้บริการระบบชำระเงินกับกลุ่มผู้ประกอบการในระบบอยู่แล้ว แต่เร็วๆนี้จะมีการต่อยอดบริการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ ซึ่งในการให้บริการสินเชื่อนั้นบริษัทคงร่วมมือกับธนาคารหลายแห่ง ไม่ใช่เฉพาะทีเอ็มบีรายเดียว โดยข้อมูลผู้ประกอบการบิลค์มีอยู่สามารถนำไปวิเคราะห์ เพื่อให้บริการสินเชื่อของธนาคารให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้ อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดชัดเจนได้ขณะนี้ แต่ยืนยันได้ว่าจะพร้อมให้บริการในปีนี้แน่นอน

ด้านนายอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอของ รีคัลท์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า รีคัลท์ได้ร่วมกับสถาบันการเงินและบริษัทที่มีความสนใจในการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกร ด้วยการใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลอากาศ การพยากรณ์อากาศล่วงหน้า ข้อมูลดิน พื้นที่ ชนิดของพืชที่ปลูก และข้อมูลส่วนบุคคลเบื้องต้นที่เกษตรกรเข้ามากรอกในแพลตฟอร์มของรีคัลท์จากหลายปัจจัยที่นำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อช่วยให้สถาบันการเงิน ธนาคาร หรือโรงงานอ้อยใช้พิจารณาในการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกร ซึ่งข้อมูลของเราเป็นเหมือนระบบที่ช่วยวัดศักยภาพและประเมินความเสี่ยงในการจ่ายเงินคืนของเกษตรกร

“คาดว่าในช่วงปลายปีนี้จะมีการเปิดตัวบริการดังกล่าว ปัจจุบันรีคัลท์มีพาร์ตเนอร์ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โรงงานอ้อย บริษัทรถยนต์ ร้านโชวห่วย ร้านปุ๋ย ตามต่างจังหวัดที่สนใจปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรแทนที่จะไปกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมากถึงปีละ 200-300% การที่ใช้ระบบเราทำให้เขามีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยถูกได้”

ด้านนางสาวภรณี วัฒนโชติ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง ฟินแก๊ส (FinGas) กล่าวว่าบริษัทมีแผนความร่วมมือไว้กับสถาบันการเงินในเมืองไทยทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) เพื่อให้บริการสินเชื่อในรูปแบบก๊าซหุงต้มกับพ่อค้า แม่ค้าสตรีตฟู้ด เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น แต่หากทางธนาคารสนใจก็ยินดีที่จะร่วมมือ เพราะในปัจจุบันธนาคารเองยังไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าเงินกู้ที่เป็นรายย่อย

“แม่ค้าทุกวันนี้ด้วยความที่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน จึงต้องไปอาศัยเงินกู้นอกระบบทำให้การขยายหน้าร้านไม่สามารถทำได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วแม่ค้าสตรีตฟู้ดในไทย สามารถสร้างจีดีพีให้กับประเทศอยู่ที่กว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 300,000 ล้านบาทต่อปี แต่กลับไม่มีสินเชื่อที่เข้าไปช่วยสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนการทำธุรกิจ แม่ค้าขายสินค้าได้ก็จริงแต่ต้องนำเงินไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยจากการกู้นอกระบบ”

นางสาวภรณี กล่าวต่อไปอีกว่าแม่ค้าตามท้องตลาดใช้งานก๊าซมากถึงวันละ 3 ถัง มีค่าใช้จ่ายวันละเกือบ 1,500 บาท โดยที่ไม่ได้มีเงินทุนหมุนเวียน แต่หากแม่ค้ามีการสั่งก๊าซหุงต้มมาใช้ทุกวัน ก็จะกลายเป็นการสร้างก๊าซสเตตเมนต์เพื่อทำให้ทราบว่าแม่ค้าคนนี้มีพฤติกรรมในการทำงานทุกวัน จึงเป็นการเรียนรู้ได้ว่าแม่ค้าขยันทำกิน 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562

แบงก์ผนึกสตาร์ตอัพ  ปล่อยสินเชื่อรายย่อย