เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้ส่งต่อโอกาส จับคู่ธุรกิจถ่ายทอดเทคโนโลยี

16 ก.ย. 2562 | 05:00 น.

“การบริการลูกค้า ผลที่ตามมาคือผลจากการทำธุรกิจแล้วลูกค้า HAPPY”

การทำธุรกิจความจำเป็นอย่างหนึ่งคือหยุดไม่ได้ที่จะต้องมีการพัฒนาตนเอง พัฒนาระบบผลิตให้ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งนอกเหนือจากการคิดค้นทั้งทางตำราและด้วยความสามารถของทีมงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเป็นทางลัดได้อย่างสบายคือ การเยี่ยมชมนิทรรศการ งานแสดงสินค้าต่างๆ และประเทศไทยค่อนข้างที่จะโชคดี ในเรื่องทำเลที่ตั้งของประเทศ ที่ต่างชาติมองว่าเป็น HUB ได้ในหลายๆอุตสาหกรรม ทั้งประเทศไทยเดินทางสะดวกและเป็นประเทศที่ต่างชาติก็อยากมาเที่ยว  

ทำให้บริษัทจัดงานแสดงสินค้าต่างๆให้ความสนใจอย่างมากเข้ามาจัดงาน และเป็นจุดให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ได้เข้ามาร่วมชมงานด้วย ซึ่งผลที่ได้รับต่อมาคือการกระตุ้นเศรษฐกิจในไทยไปโดยปริยายจากการใช้จ่ายของผู้มาร่วมงาน ทีมงานได้พูดคุยกับ “มร.กอร์นอท  ริงลิ่ง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด เป็นบริษัทลูกของกลุ่มบริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ จากเยอรมนี  ที่มีประสบการณ์การจัดงานในไทยยาวนานมาถึง 20 ปี

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้ส่งต่อโอกาส จับคู่ธุรกิจถ่ายทอดเทคโนโลยี

เขาเล่าว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจ และต้องการที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้า ทางบริษัทจึงวางแผนจัดงานเอ็กซิบิชันใหญ่ทุก 2 ปี/ครั้ง  จัดครั้งละ 5 งาน แต่ละปีล้วนเป็นงานขนาดใหญ่ มีการนำเสนอเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆของแต่ละอุตสาหกรรม  รูปแบบของงานจะมีขนาดเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของแต่ละอุตสาหกรรมเช่นกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะนำงานประเภทใดที่บริษัทแม่จัด  นำมาแสดงในไทยเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและในภูมิภาคเพิ่มขึ้น เพราะหากรวมประชากรในภูมิภาคอาเซียนนี้แล้วมีถึง 640 ล้านคน จึงควรที่จะมีงานอื่นๆที่เหมาะสมมาจัดแสดงเพิ่มขึ้น  เช่น งาน Community Care ที่แตกออกมาจากงาน Medical Fair เป็นงานดูแลชุมชนที่สามารถดูแลผู้สูงอายุ ไปจนถึงงานด้านเวชศาสตร์การฟื้นฟูผู้สูงวัย เป็นต้น 

สำหรับปีนี้บริษัทจัดงานก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยการนำเทคโนโลยี-IT ดิจิทัล เข้ามาใช้มากขึ้น เช่น การลงทะเบียนล่วงหน้าของผู้เข้าชมงาน โดยเฉพาะผู้ชมงานจากในภูมิภาคอาเซียนนี้จะมีประมาณ 30-40% การทำ data sourcing การ search ลูกค้าหรือประวัติของบริษัทผู้แสดงสินค้าเพราะงานนี้มีการจับคู่ธุรกิจ (Matching Business) ด้วย เป็นต้น ซึ่งในเรื่องของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ ยุคนี้การจัดงานแสดงสินค้าก็จำเป็นต้องนำมาใช้เช่นกัน  แต่สิ่งที่บริษัทจะให้ความสำคัญกว่านั้นคือ การบริการของตัวบุคคล โดยเฉพาะให้การบริการกับลูกค้าในการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆมากกว่า

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้ส่งต่อโอกาส จับคู่ธุรกิจถ่ายทอดเทคโนโลยี

สำหรับปีนี้งานที่จะนำมาจัดแต่ละงาน ทางบริษัทได้รับการสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สมาคมต่างๆ อย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วคือ งาน Medical Fair 2019 ที่จัดเมื่อ วันที่ 11-13 กันยายน ที่ผ่านมานั้นได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมต่างๆ ซึ่งเป็นงานสำหรับอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ  โดยเฉพาะผู้สูงวัย เรื่องเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาเช่นกันว่าอาจจะมีงานเกี่ยวกับผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นแต่จะเป็นเมื่อใดคงต้องติดตามต่อไป เพราะต้องรอจังหวะและโอกาสเช่นกัน  และคาดว่าปีนี้งานทั้ง 4 งานจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 45,000 คน เป็นผู้ประกอบการชาวต่างชาติราว 12,000 คน ซึ่งจะทำให้ไทยมีเงินสะพัดจากงานเอ็กซิบิชันนี้ได้พอสมควรส่วนงานที่จัดขึ้น คือ

 

“ทีพลาส 2019” (TPLAS 2019) 

งานแสดงเทคโนโลยีด้านการผลิตพลาสติกและยางแห่งเอเชีย มีจำนวน 200 บริษัท จาก 20 ประเทศ และ 85% ของผู้จัดแสดงสินค้าเป็นบริษัทต่างชาติมาจาก ออสเตรีย, จีน, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน  

งานนี้โซนที่น่าสนใจมร.กอร์นอท  บอกว่า เป็นโซนพลาสติกเพื่อการแพทย์ จัดแสดงนวัตกรรม เครื่องจักรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์  และโซนวัตถุดิบ ที่จัดแสดงนวัตกรรม โซลูชันที่หลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ สารเคลือบ ฟิลเลอร์สำหรับเม็ดพลาสติกและเทอร์โมพลาสติกอีลาสโตเมอร์ กลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าชมงานก็คือ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง ผู้แปรรูปวัตถุดิบ  สมาคมการค้า / องค์กรด้านการบริการ เป็นต้นระหว่าง วันที่ 18-20 กันยายน 2562 เวลา 10.00- 18.00 น. และวันที่ 21 กันยายน 2562 เวลา 10.00 - 17.00 น. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค   

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้ส่งต่อโอกาส จับคู่ธุรกิจถ่ายทอดเทคโนโลยี

“ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019” (wire and TUBE Southeast Asia 2019)  

มหกรรมเทคโนโลยีการผลิตลวด เคเบิล ท่อ และท่อร้อยสาย ครั้งยิ่งใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภายในงานประกอบด้วย 2 งาน คือ งานนิทรรศการอุตสาหกรรมลวด และเคเบิล นานาชาติ ครั้งที่ 13 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และงานนิทรรศการอุตสาหกรรมท่อ และท่อร้อยสาย นานาชาติ ครั้งที่ 12 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่ามีผู้จัดแสดง 400 บริษัท จาก 30 ประเทศ อาทิ ออสเตรีย, จีน, เยอรมนี, อิตาลี, สิงคโปร์, ไต้หวัน, อังกฤษ, สหรัฐฯ  จัดขึ้นวันที่ 18 - 20 กันยายน 2562

 

“แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” (PACK PRINT International 2019)  

งานแสดงเทคโนโลยีด้านการบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์แห่งเอเชีย ครั้งที่ 7 ด้วยความร่วมมือระหว่าง สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย งานแสดงเทคโนโลยีด้านการบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์แห่งเอเชีย ครั้งที่ 7 ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC Bangna) กรุงเทพฯ

ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Shaping the future of packaging and printing in Asia” โดยกลุ่มผู้ขับเคลื่อนมหกรรมสินค้าชื่อดังอย่างดรูป้า และอินเตอร์แพค  ผู้ร่วมงานจะได้พบกับเทคโนโลยี และนวัตกรรม การพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ จากผู้ออกแสดงสินค้าชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 300 แห่ง 25 ประเทศ ในกลุ่มประเทศจากเยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย จีน รวมถึงแบรนด์ชั้นนำต่างๆ อาทิ HP Heidelberg Konica Minolta Riso Fujifilm Ricoh Bobst KURZ Zund Duplo Sansin Selic Corp PMC เป็นต้น เพื่อสะท้อนเทรนด์และความเคลื่อนไหวในวงการ แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,505 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2562

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้ส่งต่อโอกาส จับคู่ธุรกิจถ่ายทอดเทคโนโลยี