ไขกลยุทธ์ อินฟอร์มาควบรวมยูบีเอ็ม ขึ้นแท่นเบอร์1เอ็กซิบิเตอร์โลก

22 ก.ย. 2562 | 05:55 น.

 

ในโลกยุคปัจจุบันการเติบโตของธุรกิจ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการโตด้วยตัวเองเท่านั้น การควบรวมยังจัดเป็นกลยุทธ์ ที่ทำให้ธุรกิจขยายตัว อย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่นการควบรวมธุรกิจระหว่างอินฟอร์มา มาร์เก็ต กับ ยูบีเอ็ม ส่งผลให้ปัจจุบันอินฟอร์มา มาร์เก็ต ขึ้นแท่นเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าอันดับ 1 ของโลก แซงหน้ารี้ด เอ็กซ์ฮิบิชั่นส์ไปแล้ว และการ ควบรวมที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจเอ็กซิบิชันในไทย  อ่านได้จากสัมภาษณ์ นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครง การและอีเวนต์ ภูมิภาคอาเซียน บริษัทอินฟอร์มา มาร์เก็ตฯ

 

ไขกลยุทธ์ อินฟอร์มาควบรวมยูบีเอ็ม  ขึ้นแท่นเบอร์1เอ็กซิบิเตอร์โลก

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์

 

รีแบรนด์เป็นอินฟอร์มาฯ

นับจากอินฟอร์มา In forma (INF.L) ได้ทำข้อตกลงซื้อ UBM UBM.L ผู้จัดงานประชุม ด้วยเงิน 3.8 พันล้านปอนด์ (5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในรูปของเงินสดและหุ้น ทำให้ขณะนี้ยูบีเอ็มได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอินฟอร์มา มาร์เก็ตซึ่งอินฟอร์มา เป็นบริษัทของอังกฤษ ซึ่งดำเนินธุรกิจใน 5 ด้าน เช่น อินฟอร์มา เทคโนโลยี, อินฟอร์มา  กรีนบิสิเนส, อินฟอร์มา มาร์เก็ต เป็นต้น

อินฟอร์มา มาร์เก็ต เป็นส่วนของธุรกิจเอ็กซิบิชัน มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 10.53 พันล้านยูโร มีการจัดแสดงสินค้าและกิจกรรมสำหรับการเจรจาธุรกิจระดับนานาชาติกว่า 550 งานทั่วโลก

การควบรวมธุรกิจที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ ปัจจุบัน อินฟอร์มา มาร์เก็ต กลายเป็นอันดับ 1 ของโลกในธุรกิจนี้ ซึ่งวัดจากจำนวนพื้นที่ในการจัดงานแสดงสินค้าที่เกิดขึ้น จากที่ก่อนหน้า นี้ที่ รี้ด เอ็กซ์ฮิบิชั่นส์ อยู่ใน อันดับ 1 ยูบีเอ็ม อยู่อันดับ 2 และอินฟอร์มาอยู่ในอันดับ 3
ของโลก ดังนั้นการรวมกันระหว่างเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ของโลกที่เกิดขึ้น ทำให้อินฟอร์มาฯขยับ มาอยู่ที่อันดับ 1 และ รี้ด เอ็กซ์ฮิบิชั่นส์ อยู่ในอันดับ 2

ที่ผ่านมาการเข้ามาจัดงาน แสดงสินค้าในไทยของอินฟอร์มา ที่เคยจัดก็มีเพียงงานบียอนด์ บิวตี้ ที่โกลบอลเอ็กซิบิชัน ทีม ของอินฟอร์มา จับมืออิมแพ็ค นอกนั้นงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เมืองไทย จะอยู่ที่สิงคโปร์ ดูไบ หรือถ้างานด้านฟู้ด ก็จัดใน อเมริกา จีน สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งจัดโดยสำนักงานสาขาในประเทศต่างๆ ของอินฟอร์มาแต่อินฟอร์มา ไม่มีสำนักงาน สาขาในไทย


 

 

ดังนั้นพอมารวมกันกับ ยูบีเอ็มแล้ว ตอนนี้ในแง่การทำตลาดชื่อยูบีเอ็มก็จะหายไป แต่จะใช้ชื่ออินฟอร์มา มาร์เก็ตเป็นแบรนด์เดียวในทุกสาขาของยูบีเอ็มทั่วโลก ซึ่งเราอยู่ระหว่างการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจ และการเข้ามาซื้อยูบีเอ็ม ซึ่งมีตลาดหลักอยู่ที่เอเชีย ของอินฟอร์มา มาร์เก็ต ก็ทำให้เข้ามาขยายธุรกิจในเอเชียได้ และการควบรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่เพียงเอ็กซิบิชัน เพราะเราวางตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม ที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้ามาเจอกันทำให้เกิดธุรกิจเกิดการแลกเปลี่ยนกันทางธุรกิจ

 

จัดโชว์สเกลใหญ่ขึ้น

การยกระดับมาเป็นเบอร์ 1 ของโลก ถ้าในแง่บวก คือ เราสามารถรองรับตลาดได้ครบวงจร มีการแชร์ตลาดกัน แชร์ทีมกัน แชร์ความรู้กัน เพื่อที่จะขยายเซ็กเตอร์การจัดงานต่างๆ ที่ตัวเองแข็งแรงให้ใหญ่ขึ้น เพราะวันนี้ถือว่าเป็นออร์แกไนเซอร์เดียว กันแล้ว มีการประชุมร่วมกัน วางกลยุทธ์ร่วมกัน ทำให้การจัดงานในแต่ละภูมิภาคจะมีโชว์ที่ไม่ซํ้ากัน ผู้ซื้อไม่ต้องเดินทางไปๆ มาๆ และยังทำให้งานที่แข็งแรงอยู่แล้วขยายสเกลงานให้ใหญ่ขึ้นได้อีก ซึ่งอินฟอร์มามีเทคโนโลยีเน้นเรื่องดิจิทัลมาก การลงทุนในส่วนของดิจิทัลก็เยอะ

อย่างการจัดงานบียอนด์ บิวตี้ ที่เป็นงานเดียวของอินฟอร์มาในไทยก่อนหน้าที่จะมี การควบรวมกับยูบีเอ็ม ต่อไปก็จะทำให้งานขยายใหญ่ขึ้น เพราะเรามีทีมอาเซียนบิวตี้ของเราที่เมืองไทย ก็กำลังศึกษากันอยู่ คงจะประกาศการจัดงานได้ในไม่ช้า หรือแม้แต่งานที่ยูบีเอ็ม จัดเช่น งานฟู้ดอินกรีเดียน ฟู้ดแอนด์โฮเทล ที่เพิ่งจบไป ก็เป็นการจัดในชื่อของอินฟอร์มา มาร์เก็ต ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะเราลงลึกในฟู้ด สร้างเน็ตเวิร์กในฟู้ดทำให้ยั่งยืนยิ่งขึ้นในการดีลกับพาร์ตเนอร์ต่างๆสร้างให้มันเป็นแพลตฟอร์มมากกว่าการออกบูธขายสินค้า คนที่มาได้มากกว่าการสัมมนาหรือว่าเอ็กซิบิชันแต่ว่าคุณจะได้เน็ตเวิร์กได้พบปะได้แลกเปลี่ยน มีเวทีมากกว่าการจัดสัมมนาหรือว่าเอ็กซิบิชัน

 

เล็งครีเอตงานใหม่เข้าไทย

ไม่เพียงแต่งานที่เราจัดอยู่เดิม ก็ควรจะร่วมกันคิดจัดงานใหม่ๆ เช่น งานบางอย่างยังไม่มีในเมืองไทย ไม่มีในเอเชียเลย ก็จะให้พิจารณากันอยู่ เช่น งานเกี่ยวกับเมดิคัล แล็บ จะเป็นไปได้หรือไม่ อีกทั้งโจทย์ที่อินฟอร์มาให้ไว้กับเรา คือ 1. แม้จะเกิดการบูรณาการทางธุรกิจเกิดขึ้น ก็ต้องทำให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้ประกอบการ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราเป็นพาร์ตเนอร์แล้วทำธุรกิจด้วยได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบอินวอยซ์ ระบบการเก็บเงิน 2. การสร้างประสบการณ์ของลูกค้าในด้านเอ็กซิบิชัน และ 3. สร้างความยั่งยืนให้กับเอ็กซิบิชันและพาร์ตเนอร์ของเรา เช่น การใช้หลอดไฟ LED การรณรงค์ ความสูงของบูธ การลดการใช้กระดาษ ลดพลาสติก ใช้ดิจิทัลมากขึ้น อาจจะดูใหม่สำหรับคนไทย แต่มันเป็นเทรนด์ของยุโรป

สำหรับภาพรวมของธุรกิจงานแสดงสินค้าในไทย งานที่จะอยู่รอดต้องเป็นงานนิชมาร์เก็ตและยูนีค ซึ่งงานทุกงานของเราถือว่าตอบโจทย์และเติบโตดีเพราะแต่ละโปรดักต์จะต้องมีกลุ่มเป้าหมาย มีผู้ซื้อที่ชัดเจน ส่วนที่ก่อนหน้านี้คนวิตกกันว่า การเติบโตของเทคโนโลยีจะกระทบต่อธุรกิจเอ็กซิบิชันนั้น เรื่องนี้มีการคุยกันแล้วว่า มันจะกระทบแต่ในบางธุรกิจ เช่นคอมพิวเตอร์ มือถือ ที่กลายเป็นว่าไปห้างก็ซื้อได้ ธุรกิจเสื้อผ้า จะเห็นได้ว่างานแฟชั่นโชว์ไม่มีแล้ว พวกนี้ที่ซื้อออนไลน์ แต่บางธุรกิจยังต้องการการเผชิญหน้า เพื่อสร้างความเชื่อถือ เป็นจุดในการพิจารณาซื้อขายสินค้า งานแสดงสินค้าของอินฟอร์มา จึงไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ และเรานำดิจิทัลมาเป็นตัวเสริมในการอำนวยความสะดวกในการจัดงานต่างๆ ของเรามากกว่า

 

สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3506 วันที่ 19-21 กันยายน 2562

ไขกลยุทธ์ อินฟอร์มาควบรวมยูบีเอ็ม  ขึ้นแท่นเบอร์1เอ็กซิบิเตอร์โลก