กฟผ.ยึด‘โปรตุเกส’โมเดล ต้นแบบโรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ

20 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

 

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยนํ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังนํ้า หรือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยนํ้า ถือเป็นโครงการสำคัญในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2561-2580 หรือแผน PDP 2018 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังนํ้าตามเขื่อนต่างๆ รวมจำนวน ทั้งสิ้น 2,725 เมกะวัตต์

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. ให้สัมภาษณ์ระหว่างนำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชน ศึกษาดูงานด้านการจัดการพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศสเปนและโปรตุเกส ว่า กฟผ.มีการทดลองดำเนินการในเรื่องพลังงานหมุนเวียนและติดตามการพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียน มาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม  ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบาย Energy for all : พลังงานเพื่อทุกคนที่มุ่งเน้นให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ และราคามีความเหมาะสมในทุกพื้นที่ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้พลังงานของคนไทยมาปรับใช้อย่างสอดรับกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของโลกในอนาคต

กฟผ. จึงมีการทดลองดำเนินการในเรื่องพลังงานหมุนเวียนและติดตาม การพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม

 

นอกจากนี้กฟผ.ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ณ เขื่อน Alto Rabagao เมือง Montalegre ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบสำหรับทดลองและออกแบบระบบผลิตไฟฟ้า Hydro Floating Solar Hybrid System ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทพลังงานแห่งโปรตุเกส หรือ EDP (Energias de Portugal)

จากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แหล่งพลังงานมากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป หรือที่เรียกว่า ระบบ Hybrid Systemประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ และการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Hydro Floating Solar Hybrid System นั้น เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังนํ้าควบคู่กับพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดตํ่าลงได้ และมีจำนวนชั่วโมงการผลิตไฟฟ้าที่ยาวนานขึ้น เพราะในช่วงเวลากลางวันที่เดิมต้องปล่อยนํ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนต่อความต้องการ ก็จะเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แทน ในขณะที่ในช่วงเวลากลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ได้ จึงจะใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังนํ้า นับเป็นการผสมผสานร่วมกันของ 2 พลังงาน เพื่อให้การบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถจัดสรรกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำไปกักเก็บไว้ในรูปของพลังนํ้าสำหรับผลิตไฟฟ้าและขายไฟเข้าระบบในช่วงที่มีราคาสูง

 

กฟผ.ยึด‘โปรตุเกส’โมเดล  ต้นแบบโรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ

 

การผลิตไฟฟ้าด้วยระบบดังกล่าวยังมีข้อดีคือเป็นการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว เช่น สายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าฯ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการลงทุนเพิ่มในระบบไฟฟ้าและยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยนํ้า ยังประหยัดพื้นที่การติดตั้งและมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นดิน ซึ่งจะติดตั้งที่มุม 12 องศา ในขณะที่การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นดินจะทำมุมชัน (slope) 30 องศา ทำให้รับแสงได้ดีขึ้น ดังนั้นในการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 1 เมกะวัตต์ ถ้าเป็นโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยนํ้าจะใช้พื้นที่เพียง 1 เฮกตาร์ (6.25ไร่)แต่ถ้าเป็นโซลาร์เซลล์บนพื้นดิน จะต้องใช้พื้นที่มากถึง 3 เฮกตาร์ (18.75 ไร่)

 

ส่วนประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ดีกว่า 4-10% เนื่องจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยนํ้านั้น จะมีนํ้าใต้แผงโซลาร์เซลล์มาช่วยในเรื่องของการระบายความร้อนทำให้อุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์ตํ่ากว่าแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งติดตั้งบนพื้นดิน

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ.กล่าวว่า กฟผ. มีโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าพลังนํ้า และโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยนํ้าในลักษณะเดียวกันที่เขื่อน สิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมูลคัดเลือกบริษัทผู้รับงานวิศวกรรม-จัดหา-ก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ประมูลและจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563

“กฟผ.มั่นใจว่า โครงการที่เขื่อนสิรินธร จะช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ได้ดีขึ้น จากเดิมที่พื้นที่ดังกล่าวพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโครงการห้วยเฮาะใน สปป.ลาว โดยโครง การที่เขื่อนสิรินธร จะเป็นโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่จะถูกทำลายสถิติ จากโครงการของ EDP ขนาด 480 เมกะวัตต์ ที่เมือง Alqueva” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3506 หน้า 5 วันที่ 19 - 21 กันยายน 2562

กฟผ.ยึด‘โปรตุเกส’โมเดล  ต้นแบบโรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ