โจชัว หว่อง โผล่วอชิงตัน ให้ข้อมูลสหรัฐฯ กดดันรัฐบาลฮ่องกง

17 ก.ย. 2562 | 11:16 น.

นายโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ปากคำแก่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯเมื่อวันที่ 17 ก.ย.และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ชื่อว่า Hong Kong Human Rights and Democracy Act หรือ ร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง เพื่อนำมาใช้แทนกฎหมายฉบับเก่าที่ใช้มาเกือบ 3 ทศวรรษ

   โจชัว หว่อง เดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดีซี เขาได้พบกับมาร์ติน ลี ผู้ได้ชื่อว่า บิดาแห่งประชาธิปไตยฮ่องกงวัย 79 ปี

ทั้งนี้ นายหว่องมีนัดให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการบริหารของสภาคองเกรสที่ดูแลประเด็นต่างๆเกี่ยวกับประเทศจีน เขาเรียกร้องให้สหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อใช้แทนกฎหมายฉบับเก่าที่ออกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1992 ภายใต้ชื่อ US-Hong Kong Policy Act เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับใหม่จะเพิ่มประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยลงไปในเนื้อหา และมีการประเมินสถานะของฮ่องกงเป็นรายปีว่ามีความเป็นอิสระจากรัฐบาลปักกิ่งมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นเกณฑ์เงื่อนไขในการให้สถานะพิเศษและสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ฮ่องกง และในทางกลับกัน ก็ให้ใช้ผลการประเมินรายปีดังกล่าวเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานสหรัฐฯในการตัดสินใจใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่จีนหรือเจ้าหน้าที่ฮ่องกงที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพในฮ่องกงได้ด้วย    

โจชัว หว่อง กับนายมาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ผู้ผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง

กฎหมายว่าด้วยนโยบายของสหรัฐฯต่อฮ่องกงซึ่งออกมาเมื่อปี 1992 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองว่าความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มีต่อฮ่องกง จะยังคงดำเนินต่อไปเหมือนเดิมหลังจากที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีนในปี 1997 ซึ่งเป็นการแยกการปฏิบัติของสหรัฐฯต่อฮ่องกงออกจากการปฏิบัติต่อจีนอย่างชัดเจน แต่ผู้ที่เสนอให้เลิกใช้กฎหมายฉบับนี้แย้งว่า มันเป็นกฎหมายดั้งเดิมที่ไม่มีกลไกส่งเสริมประชาธิปไตย

 

เตือนหว่องอย่าชักศึกเข้าบ้าน

ด้านนางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของนายหว่องว่า ถ้าสหรัฐฯออกมาตรการคว่ำบาตรฮ่องกงก็มีแต่จะทำให้ปัญหาของฮ่องกงมีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย และหากสหรัฐฯเพิกถอนสถานะพิเศษที่เคยให้กับฮ่องกง ก็มีแต่จะซ้ำเติมให้เศรษฐกิจของฮ่องกงต้องย่ำแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ นางแลมยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาของฮ่องกงต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะทีมรัฐบาล แต่หมายถึงการทำงานเป็นทีมระหว่างรัฐบาล ชุมชน และสังคม โดยการเปิดเวทีพบปะหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลและตัวแทนภาคประชาชนรวมทั้งตัวแทนผู้ชุมนุมจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า หลังจากที่รัฐบาลได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษที่เรียกว่า สำนักเจรจาหารือ ขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ก.ย.)

แคร์รี แลม

“การพูดคุยหารือกันดีกว่าการขัดแย้งต่อต้านกัน เวทีนี้เป็นเวทีเปิดกว้างที่รัฐบาลจะเชิญประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมมาพูดคุย แสดงความคิดเห็นต่อกัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การสื่อสารพูดคุยกันย่อมดีกว่าการทะเลาะเบาะแว้ง”  ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเปิดเผยว่า ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเวทีการหารือรอบแรกนี้สามารถยื่นสมัครเข้าร่วม และสามารถหารือทุกเรื่องโดยไม่มีการจำกัดประเด็น