"ไทยรุ่ง"มึน2เด้งรัฐบาลกลับลำมินิบัสโดยสาร-โตโยต้าถล่มตลาด

19 ก.ย. 2562 | 11:25 น.

ค่ายรถสัญชาติไทยที่หันมาทำ“มินิบัส” สุดทนนโยบาย “คมนาคม” ยืดอายุรถตู้โดยสาร และไม่บังคับให้เปลี่ยนเป็นมินิบัส “ไทยรุ่ง”กระอักยอดขายไม่เดิน “สกุลฎ์ซี” วอนรัฐบาลหนุน แถมโดน “โตโยต้า” จัดโปรดักต์ขย่มทุกตลาด

ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดอายุรถตู้โดยสารประจำทางไม่เกิน 10 ปี และถ้าจดทะเบียนใหม่ต้องเปลี่ยนเป็น “มินิบัส” แทน (แต่มีรายละเอียดต่างกันไปตามเส้นทางหรือโหมดการวิ่ง) ด้วยนโยบายนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทย เล็งเห็นโอกาสและตัดสินใจลุยประกอบมินิบัสรุ่นใหม่ เพื่อท้าชนกับผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติ

ปัจจุบันตลาดรถตู้- มินิบัส ที่เจาะกลุ่มเชิงพาณิชย์มีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง “โตโยต้า”ทำตลาดทั้งรถตู้ คอมมิวเตอร์/ไฮเอซ, มาเจสตี้ และรถบัส “โคสเตอร์” ส่วนนิสสัน มี เออร์แวน ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตคนไทยที่กระโดดเข้าในตลาดอย่าง “ไทยรุ่ง” ด้วยมินิบัส ทีอาร์ ทราเวลเลอร์ และอีกหนึ่งแบรนด์น้องใหม่ “สกุลฎ์ซี”

อย่างไรก็ดีในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”ได้มีการหารือกับกลุ่มรถตู้โดยสารสาธารณะ และมีแนวทางเบื้องต้นในการขยายอายุรถตู้โดยสารสาธารณะจาก 10 ปีเป็น 12 ปี ส่วนการเปลี่ยนจากรถตู้เป็นมินิบัส ก็ไม่มีการบังคับอีกต่อไปแต่จะเปิดให้สมัครใจ ด้านกรมการขนส่งทางบกที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะก็รับลูก และอยู่ในระหว่างการศึกษาหาข้อสรุป

แม้จะยังไม่ได้ประกาศแน่ชัดออกมาเป็นนโยบาย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสร้างแรงกระเพื่อมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้-มินิบัส โดยเฉพาะบริษัทคนไทยอย่าง ไทยรุ่ง และสกุลฎ์ซี

"ไทยรุ่ง"มึน2เด้งรัฐบาลกลับลำมินิบัสโดยสาร-โตโยต้าถล่มตลาด

 

“ยอดขายของทีอาร์ ทราเวลเลอร์ในช่วงนี้ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีผู้เล่นในตลาดรายใหญ่เปิดตัวรถรุ่นใหม่ ประกอบกับการที่ภาครัฐไม่บังคับว่าจะต้องเปลี่ยนมาเป็นรถมินิบัส ก็คาดว่ายอดขายของเราน่าหยุดชะงักไป”แหล่งข่าวจากผู้จำหน่ายไทยรุ่ง กล่าว

ด้านนายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะให้เกิดรถโดยสาร OEM สัญชาติไทยที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยในช่วงที่ผ่านมาได้นำนวัตกรรมต่างๆตามที่ภาครัฐอยากให้เป็น และได้รวบรวมเอาเทคโนโลยีชั้นสูงทั้งหมดของกลุ่มบริษัท,กลุ่มพันธมิตรผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อทำให้โครงการนี้สำเร็จ เพื่อจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมรถโดยสารไทย

ปัจจุบันสกุลฎ์ซี มีรถในรุ่น ซี-บัส ซึ่งเป็นมินิบัสขนาด 20+1 ที่นั่ง มีโครงสร้างเป็นอะลูมิเนียม และใช้เครื่องยนต์และช่วงล่างของฮีโน่ รวมไปถึงใช้ศูนย์บริการของฮีโน่ได้ทั่วประเทศ โดยได้เปิดตัวครั้งแรกในงานบัสแอนด์ทรัค ในปี 2561 ที่ทำราคาพิเศษ 1.995 ล้านบาท จากราคาปกติ 2.3 ล้านบาท และในช่วงปลายปีนี้จะเข้าร่วมโรดโชว์ดังกล่าวอีกครั้งและนำรถมินิบัสไปร่วมโชว์ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นรถอีกครั้ง

“นโยบายใหม่ที่กำลังมีการศึกษา ไม่ว่าจะมีผลออกมาอย่างไร เรายังเดินหน้าเหมือนเดิม โดยโรงงานที่ลงทุนกว่าพันล้านจะเริ่มผลิตและประกอบรถมินิบัสออกสู่ตลาดในไตรมาส 4 ของปีนี้ และเตรียมส่งมอบไตรมาสแรกของปี 2563 ปัจจุบันเรามียอดสั่งจองเข้ามาทั้งสิ้น 208 คัน ซึ่งเราจะส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในต้นปีหน้า หลังจากนั้นจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งพิจารณาราคาจำหน่ายใหม่” นายวีรพลน์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านแบรนด์พี่ใหญ่ “โตโยต้า” ที่มีสรรพกำลังมหาศาล พร้อมโปรดักต์ให้เลือกหลากหลาย ยังมั่นใจว่ารถเพื่อการพาณิชย์ในกลุ่มนี้มีอนาคต

“จากแนวคิดการขยายเวลารถตู้ออกไป มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ที่มีการชะลอออกไปก่อน แต่เราในฐานะนักลงทุนยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรและยังเดินหน้าทำตลาด โดยโตโยต้าคอมมิวเตอร์ ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปยังคงเป้าหมายที่วางไว้คือ 700-800 คันต่อเดือน ส่วนมาเจสตี้ก็เตรียมส่งมอบในปลายไตรมาส 3 นี้ แต่ในกลุ่มมินิบัส ที่เรานำเข้ามาจากญี่ปุ่นนั้น ยอดตกพอสมควร จากเดิมขายได้ 50 คันตอนนี้ขายได้ 25 คัน เพราะลูกค้าตัดสินใจไม่เปลี่ยนคันใหม่”นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรม การผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าว 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,506 วันที่ 19-21 กันยายน 2562